บทบรรณาธิการ

Authors

  • - -

Abstract

วารสารดำรงวิชาการ ฉบับที่ 14/1 (มกราคม - มิถุนายน 2558) นี้ ทางกองบรรณาธิการได้เคยนำเสนอแล้วว่ามีเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับการศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมและวัฒนธรรมในคาบสมุทรมลายู อันประกอบด้วย

ภาษามลายู (ชื่อบ้านนามเมือง) ในคาบสมุทรมลายู เป็นบทความที่อธิบายความหมายและความเป็นมาของชื่อถิ่นฐานในคาบสมุทรมลายู ชื่อเหล่านี้ประกอบขึ้นจากลักษณะทางกายภาพและประวัติศาสตร์ที่ทำให้มีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกับพลวัตทางสังคมอีกหลายประการ

มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย ศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์รวมถึงคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม เคลื่อนย้ายไปมาตามแหล่งทรัพยากรอยู่ทางภาคใต้ของไทยและประเทศมาเลเซีย อันเป็นหนึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมในคาบสมุทรมลายู

พระพุทธรูปทรงเครื่องสกุลช่างนครศรีธรรมราช เน้นการอธิบายถึงรูปแบบ วิวัฒนาการและความสัมพันธ์ในการเกิดขึ้น กับวัฒนธรรมเนื่องในการบูชาพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เริ่มปรากฏในภาคใต้โดยมีศูนย์กลางที่นครศรีธรรมราช อันแสดงถึงการติดต่อระหว่างคาบสมุทรภาคใต้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคลี่คลายทางงานช่างในสมัยหลังต่อมา

“ผ้า” สื่อกลางระหว่างความเชื่อกับพิธีกรรม : กรณีศึกาผ้านาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้อธิบายความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างวัตถุคือผ้าทอ กับความเชื่อในชุมชนของผ้าทอนาหมื่นศรี ที่เป็นผ้าทอตามแบบประเพณีไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีบทความที่มีเนื้อหาครอบคลุมในด้านอื่น ๆ อีก ได้แก่

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมิหร็อบของมัสยิดต้นสนและอิทธิพลต่อความศรัทธาของชนมุสลิม ซึ่งน่าสนใจในแง่การวิเคราะห์ด้านศิลปสถาปัตยกรรมของศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนบทบัญญัติทางศาสนาและผูกโยงกับความศรัทธาของศาสนิกในฐานะผู้ปฏิบัติบูชา

แนวทางการศึกษาพระอุมาสมัยอิทธิพลเขมรในพระเทศไทย ให้กรอบความคิดในการค้นคว้าทางประติมาณวิทยาและรูปแบบศิลปะของเทวสตรีที่สำคัญในศาสนาฮินดู ที่เข้ามาพร้อมๆกับวัฒนธรรมเขมรอันรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่งบนดินแดนไทยในอดีต

ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมและประเด็นใหม่เกี่ยวกับเจดีย์ทรงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นการเสนอแนวคิดการวิเคราะห์สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยที่งปัจจุบันมีหลายแนวทางเกี่ยวกับที่มา โดยได้สันนิษฐานถึงการผสมผสานและกลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมโบราณจนช่างสุโขทัยหยิบยืมมาเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ตนเอง

จากต้นแบบธรรมิกราชาของพระเจ้าอโศกมหาราชสู่บทบาทพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชาผู้บรรเทาทุกข์ของทวยราษฎร์ : ภาพสะท้อนจากจารึกประจำอโรคยศาล บทความนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบขนบของการเป็น “ธรรมราชา” ขององค์มหาราชในอดีตที่มุ่งเน้นการใช้คุณธรรมในพุทธศาสนาเพื่อเสริมสร้างพระบารมีรวมถึงพระราชอำนาจในการปกครองอย่างเป็นธรรม อันส่งผลให้เห็นเป็นหลักฐานด้านจารึกสรรเสริญพระเกียรติที่ตกทอดมาในปัจจุบัน

สองมือมนุษย์จะกำหนดอนาคตตน : มนุษย์และการใช้เทคโนโลยีในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์เรื่อง Makers ของ Cory Doctorow เป็นการถอดรหัสความคิดของผู้เขียนนวนิยายเกี่ยวกับโลกในอนาคตอันมีพื้นฐานจากการทำนายจากวิทยาการในปัจจุบัน ว่ามนุษย์นั้นจะมีศักยภาพเพียงใดในการกำหนดบทบาทตนเองในขณะที่เทคโนโลยีก้าวมาถึงขั้นที่บางครั้งไม่อาจควบคุมได้โดยง่าย

และบทวิจารณ์หนังสือ (Book Review) เรื่อง Intangible Heritage and The Museum : New Perspectives on Cultural Preservation) ซึ่งผู้วิจารณ์ได้อธิบายถึงเนื้อหาภายในหนังสือที่ว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อันพบตัวอย่างการจัดการอยู่ในหลายประเทศที่มีทั้งผลดีและจุดอ่อน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีเพราะวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นมีความเปราะบางสูงเมื่อต้องเผชิญกับกระแสการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้นทุกวัน

 

เป็นที่น่ายินดีที่จะแจ้งให้ท่านผู้อ่านและผู้เขียนบทความได้รับทราบทั่วกันว่า ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) รับรองให้วารสารดำรงวิชาการ เป็นวารสารที่อยู่ในคุณภาพกลุ่มที่ 1  ซึ่งจะมีผลให้บทความที่ส่งเข้ารับการตีพิมพ์กับวารสารดำรงวิชาการตั้งแต่ฉบับที่ 13/1 เป็นต้นไปสามารถใช้สำหรับขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการและประเมินคุณภาพในระบบได้  โดยมีผลประเมินจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมผลักดันให้วารสารดำรงวิชาการขึ้นสู่กลุ่ม 1

 

วารสารดำรงวิชาการยังคงดำเนินการเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างไม่สิ้นสุด ผู้สนใจสามารถส่งบทความเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ได้ ตามระเบียบที่ปรากฏอยู่ภายในเล่มและเวบไซต์ของทางวารสารคือ http://www.damrong-journal.su.ac.th  และอาจติดตามความเคลื่อนไหวสาระความรู้ด้านวิชาการ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่างๆได้ที่หน้าเพจเฟสบุ๊คของทางวารสารคือ http://www.facebook.com/DamrongJournal

 

สุดท้ายสำหรับฉบับนี้ คณะบรรณาธิการต้องขอขอบคุณผู้ที่มีอุปการะคุณและติดตามวารสารดำรงวิชาการมาอย่างต่อเนื่องด้วย

 

บรรณาธิการวิชาการ,
วารสารดำรงวิชาการ