กรณีศึกษาการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรจากแหล่งน้ำบาดาล สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
ระบบสูบน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำบาดาลบทคัดย่อ
จากสภาพปัญหาที่สำคัญด้านภัยแล้ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เป็นเวลานานและครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งโดยทั่วไปเกิดจากสภาวะที่มีฝนน้อยหรือไม่มีฝน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติหรือค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มระดับความรุนแรงของภัยแล้ง ได้แก่ ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ได้แก่ การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม และการรักษาความชุ่มชื้นแก่ระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนบนประเทศไทย (ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เกษตรกรรมของประเทศไทยยังคงพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ในสภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ เกษตรกรขาดรายได้ เกิดภาวะหนี้สิน ส่งผลให้เกษตรกรอพยพย้ายเข้ามาทำงานในเขตเมืองทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยการจัดหาให้ชุมชนมีแหล่งน้ำ ที่เพียงพอตลอดปีทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน จะทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนารูปแบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้สามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้เกิดผลผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดปัญหาสังคมจากการย้ายถิ่นฐานและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้มีความมั่นคง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ต่อไป
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจ ด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง จึงได้ทำการศึกษาจากกรณีศึกษา (Case Study) ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน รวมทั้ง “โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการเกษตรจากแหล่งน้ำบาดาล” ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีความสะดวกในการใช้งาน และง่ายต่อการบำรุงรักษา เพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป
ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรจากแหล่งน้ำบาดาล เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยนําแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำบาดาล เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลจากสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และใช้ทดแทนเครื่องยนต์ดีเซลที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานสิ้นเปลืองที่นับวันราคาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็น การบรรเทาปัญหาภัยแล้งคุกคามภาคการเกษตรซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปี 2562 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประสานไปยัง กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ที่เน้นส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการนำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดต้นทุนและขยายโอกาสทางการเกษตร และสามารถพึ่งพาตนเอง ตามศักยภาพด้านพลังงานทดแทนภายในชุมชน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปี 2562 พบว่าเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนมีความพึงพอใจ เพราะสามารถช่วยลดการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และลดต้นทุนการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็ง และความสามัคคีให้กับชุมชน เนื่องจากการใช้งานระบบฯ จะต้องมีการรวมกลุ่มกันระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังต้องมีการบริหารจัดการน้ำกับการใช้งานระบบให้มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชในแต่ละแปลงเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งหากชุมชนสามารถพัฒนากลไกการจัดการในชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างประเทศไทยจากฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย และบุคลากรท่านอื่นๆในกองบัญชาการฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว