การประเมินแฟ้มสะสมงานทางการศึกษา: เรื่องเก่าเล่าใหม่

Main Article Content

Subin Yurarach

Abstract

          บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อเสนอแนวคิดและความสำคัญของการประเมินแฟ้มสะสมงานทางการศึกษา และเพื่อให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำและการประเมินแฟ้มสะสมงานทางการศึกษา โดยเนื้อหาที่นำเสนอมาจากการสังเคราะห์และวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่า 1. แฟ้มสะสมงานทางการศึกษา ประกอบด้วย แฟ้มสะสมงานสำหรับผู้เรียน แฟ้มสะสมงานสำหรับผู้สอน แฟ้มสะสมงานสำหรับผู้บริหาร และแฟ้มสะสมงานสำหรับผู้นิเทศก์การสอน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แฟ้มสะสมงานกระดาษ และแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงสร้างของแฟ้มสะสมงานแต่ละเภทมีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงานทางการศึกษา การประเมินแฟ้มสะสมงานทางการศึกษา มุ่งประเมินเพื่อให้เจ้าของแฟ้มเกิดการยอมรับและนำผลประเมินไปใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง และ 2. ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำแฟ้มสะสมงานทางการศึกษา คือ หน่วยงานต้นสังกัดควรกำหนดโครงสร้างของแฟ้มแต่ละประเภทให้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียน และการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือให้รางวัลสำหรับผู้สอน ผู้นิเทศก์การสอน และผู้บริหาร สำหรับข้อเสนอแนะในการประเมินแฟ้มสะสมงาน มีจำนวน 6 ข้อ ได้แก่ (1) ควรพัฒนาแบบประเมินสำหรับแฟ้มสะสมงานแต่ละประเภทและกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนอย่างชัดเจน (2) การประเมินแฟ้มสะสมงานแต่ละประเภทไม่ควรใช้ผู้ประเมินเพียงคนเดียว ผู้ประเมินควรมาจากบุคคลหลายกลุ่ม (3) คุณภาพของการประเมินแฟ้มสะสมงานควรให้ความสำคัญในเรื่องความเที่ยงระหว่างผู้ประเมิน และความตรงเชิงโครงสร้าง (4) ควรจัดทำแผนภูมิแสดงขั้นตอนการประเมินแฟ้มสะสมงานแต่ละประเภท (5) การประเมินแฟ้มสะสมงานควรกำหนดอยู่ในแผนปฏิบัติงานประจำปีของหน่วยงาน ไม่ควรดำเนินการแยกออกจากภาระงานปกติ และ (6) แฟ้มสะสมงานอาจทำได้ใน 2 รูปแบบ (แฟ้มสะสมงานกระดาษ หรือแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์) แต่ควรมีระบบที่ดีในการจัดเก็บเอกสารและหลักฐาน และระบบในการเรียกดูผลงานของเจ้าของแฟ้ม

Article Details

Section
Academic Article