มิติปัจจัยการบริหารจัดการกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงปัจจัย แนวทาง ทางการบริหารจัดการที่ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือผู้บริหารของกรุงเทพมหานครฝ่ายข้าราชการการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ประเด็นข้อคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึกและนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์โดยใช้วิธีการวิเคราะห์แนวคิด การวิเคราะห์แบบสาเหตุและผล
ผลการวิจัยพบว่ามีมิติปัจจัยความเป็นเมืองน่าอยู่ต่างๆ ที่มีความสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น 7 มิติปัจจัยคือ 1)มิติภาวะผู้นำของผู้บริหารกรุงกรุงเทพมหานครทุกระดับ 2) มิติการทำงานเป็นทีม ของบุคลากรกรุงเทพมหานครในระดับต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือ ร่วมใจจากภาครัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 3) มิตินโยบายแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ 4) มิติหลักธรรมาภิบาล โดยยึดถือในการบริหารจัดการ 5) มิติการจัดการความรู้ ใช้กระบวนการจัดการความรู้ช่วยในการบริหารจัดการองค์การ ส่งเสริมให้ประชากรสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต 6) มิติวัฒนธรรมขององค์การที่มีเอกภาพ 7) มิติเทคโนโลยีสารสนเทศนำมามาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงสุขภาพของประชาชน
ข้อเสนอแนะจากการวิจัยมี 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครต้องใช้ภาวะผู้นำในการกระจายอำนาจ และการประสานงานระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรม ต้องส่งเสริมการทำงานเป็นทีมโดยใช้ผลงานของทีมเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล ส่งเสริมการจัดการความรู้และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ รวมทั้งการเสริมสร้างทัศนคติการรักองค์การและธรรมมาภิบาลเพื่อการทำงานที่โปร่งใสของกรุงเทพมหานครให้มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่สอง กรุงเทพมหานครควรจัดตั้งศูนย์การพัฒนากรุงเทพมหานครเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและพัฒนาสู่การเป็นเมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น