การวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพตลาดแรงงานในประเทศกลุ่มอาเซียน

Main Article Content

อนพัทย์ หนองคู

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกณฑ์ชี้วัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพแรงงานที่กำหนดโดยสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ได้แก่ สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Management Development: IMD) และ (2) เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum: WEF ) และเปรียบเทียบผลการจัดอันดับเกี่ยวกับประสิทธิภาพตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้เกณฑ์ชี้วัดของแต่ละสถาบัน โดยการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ที่เกี่ยวข้อง และใช้ทฤษฎีแนวคิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) และกรอบการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย WEF และ IMD
ผลการศึกษาแบ่งเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) เกณฑ์ชี้วัดสำหรับประสิทธิภาพตลาดแรงงานของ WEF และ IMD โดยผลการศึกษาพบว่า WEF จะกำหนดเกณฑ์ชี้วัดในหมวดแรงงานโดยเฉพาะ คือ ด้านประสิทธิภาพตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) (10 ตัว) ในขณะที่ IMD ได้กำหนดเกณฑ์ชี้วัดด้านแรงงานไว้ใน 2 หมวดหลัก (35 ตัว) ได้แก่ หมวดประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ(Business Efficiency) และหมวดเศรษฐกิจ (Economic Performance) (Skill) (2) การเปรียบเทียบเกณฑ์ชี้วัดด้านประสิทธิภาพแรงงานของ WEF และ IMD พบว่ามีความสอดคล้องกันสำหรับประเด็นหลักในการจัดอันดับ เช่น ผลิตภาพของกำลังแรงงาน, สถานะการว่างงาน, การจ้างงานของแรงงานต่างชาติ เป็นต้น ในขณะที่ IMD จะมีความหลากหลายของเกณฑ์ชี้วัดมากกว่า WEF โดยกำหนดเกณฑ์ชี้วัดในประเด็นที่นอกเหนือจาก WEF เช่นการฝึกอบรม/การฝึกงาน (Employee training/ Apprenticeship) ประสบการณ์การทำงานในระดับสากล(International Experience) เป็นต้น และ (3) ผลของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านประสิทธิภาพตลาดแรงงานในประเทศกลุ่มอาเซียน ในประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านค่าตอบแทนแรงงาน (Wage) ด้านการจ้างงานและการว่างงาน (Employment/ Unemployment) ด้านผลิตภาพแรงงาน (Productivity) ด้านแรงงานต่างชาติ (Foreign Labor) ด้านการรักษาแรงงานในประเทศ (Country capacity to retaining) โดยพบว่าประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในประเทศกลุ่มอาเซียนในทุกหมวด ได้แก่ สิงคโปร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 67 จากจำนวนเกณฑ์ชี้วัดทุกด้านที่ทำการประเมิน และสำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับต่ำสุดในประเทศกลุ่มอาเซียนในหลายประเด็น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และพม่า ทั้งนี้ พบว่า ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงหรือเป็นอันดับต้นของทั้ง 2 สถาบัน จะมีลักษณะ/นโยบายของประเทศ ด้านแรงงาน ได้แก่ การมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับการกำหนดค่าตอบแทนระหว่างผู้ว่าจ้างและแรงงาน รวมทั้ง ระเบียบ/ข้อปฏิบัติในการจ้างและออกจากงาน และมีอัตราการว่างงานต่ำ การกำหนดอัตราผลตอบแทนต่อชั่วโมงในระดับสูง โดยพิจารณาการให้ผลตอบแทนสัมพันธ์กับผลิตภาพ รวมทั้ง ผลิตภาพแรงงานของประเทศอยู่ในระดับสูง ประเทศสามารถดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถจากต่างประเทศ รวมทั้ง สามารถรักษาแรงงานในประเทศเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสมองไหลได้

Article Details

Section
Academic Article