ความต้องการของผู้ทำบัญชีที่มีต่อกิจกรรมการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี ในเขตบางนาและพื้นที่ใกล้เคียง
Main Article Content
Abstract
ผู้ทำบัญชีมีบทบาทสำคัญในการจัดทำและนำเสนองบการเงินหรือรายงานทางการเงินต่อผู้บริหารและเจ้าของกิจการ คุณภาพของผู้ทำบัญชีที่ดีย่อมส่งผลต่อคุณภาพของข้อมูลทางบัญชี จึงทำให้ผู้ทำบัญชีต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการจัดทำบัญชีและนำเสนองบการเงินอย่างถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป โดยมีการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ทำบัญชีได้ใน พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และเงื่อนไขที่สำคัญคือ การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ซึ่งจะช่วยพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพ ทักษะทางวิชาชีพ รวมถึงจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในการปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ คือ 1) ศึกษาความต้องการการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพของผู้ทำบัญชีในเขตบางนาและพื้นที่ใกล้เคียง 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของผู้ทำบัญชีกับความต้องการในกิจกรรมการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ โดยขอบเขตของการศึกษาจำกัดเฉพาะผู้ทำบัญชีในเขตบางนา และพื้นที่ใกล้เคียง ขนาดของกลุ่มตัวอย่างคือ 376 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าไค-สแคว์ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ทำบัญชีส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุไม่เกิน 30 ปี สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ประกอบอาชีพในธุรกิจบริการเป็นส่วนใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท และมีประสบการณ์ในอาชีพนักบัญชีน้อยกว่า 3 ปี กิจกรรมที่ต้องการมากที่สุด คือ การศึกษาต่อในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี และกิจกรรมที่ผู้ทำบัญชีมีความต้องการน้อยที่สุด คือ การเป็นวิทยากรผู้บรรยายด้านบริหารธุรกิจ ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทั่วไปของผู้ทำบัญชีกับระดับความต้องการในกิจกรรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องของผู้ทำบัญชี พบว่า ลักษณะทั่วไปในเรื่องของอายุ ประเภทธุรกิจ ประสบการณ์ในอาชีพนักบัญชี สัมพันธ์กับกิจกรรมการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD) ทุกข้อ ส่วนเพศ การศึกษาและรายได้ มีความสัมพันธ์กับบางกิจกรรมเท่านั้น