แนวทางการยกระดับภูมิปัญญา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมล้านนาสู่การบริหาร ธุรกิจโรงแรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

Main Article Content

รัญจวน ประวัติเมือง

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมล้านนา ระดับสุนทรียภาพ และวิเคราะห์การบริหารเพื่อหาแนวทางยกระดับด้วยวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน โดยการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่มย่อย เพื่อค้นหาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ตลอดจนการบริหารงานโรงแรมระดับ 3 ดาว ใช้การสังเคราะห์เนื้อหาและตรวจสอบความเที่ยงตรงของข้อมูลด้วยวิธีตรวจสอบ สามเส้า ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ อย่างละ 400 ตัวอย่างเพื่อดูระดับสุนทรียภาพ และประมวลผลโดยการใช้คอมพิวเตอร์หาค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย One – Way ANOVA  ผลการวิจัย พบว่าภูมิปัญญาและวัฒนธรรม มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ 10 กลุ่ม คือ 1) อาหาร 2) ภาษา 3) การแต่งกาย 4) กิจกรรมประเพณี  5) สภาพภูมิศาสตร์ อากาศและพืชพันธุ์ไม้  6) ดนตรี  7) สถาปัตยกรรม 8) จิตรกรรมและประติมากรรม   9) บุคลิกลักษณะและวิถีชีวิต 10.) อื่น ๆ อาทิ หัตถกรรมพื้นบ้าน และการแพทย์แผนไทย ส่วนระดับความสุนทรียภาพ พบว่าคุณค่าจากสภาพธรรมชาติและอากาศสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่คุณค่าทางสถาปัตยกรรม บุคลิกลักษณะท่าทางกิริยามารยาทของผู้คน ความงามเกี่ยวกับคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมและกิจกรรมทางประเพณีตามลำดับ สำหรับแนวทางการยกระดับผู้บริหารโรงแรมต้องสร้างเสริมองค์ความรู้ด้าน วัฒนธรรมให้กับบุคลากรโรงแรมที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สร้างเครือข่ายทุกระดับทั้งหน่วยงานและชุมชน สร้างและจัดโรงแรมเป็นศูนย์เรียนรู้ แสดง จำหน่าย และให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว โดยสภาวัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และใช้ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือปรับความสมดุลระหว่างการทำ ธุรกิจกับความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชน

Article Details

Section
Research Article