มาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาคดีเลือกตั้งของประเทศไทย
คำสำคัญ:
คณะกรรมการการเลือกตั้ง คดีเลือกตั้ง การอุทธรณ์บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในการดำเนินคดีเลือกตั้งของประเทศไทย ประการแรก ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการสืบสวน การไต่สวน การดำเนินคดีในชั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ประการที่สอง คือ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือการสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว ประการที่สาม คือ ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดให้นำวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งในระบบไต่สวนมาใช้กับการพิจารณาคดีเลือกตั้งของศาลยุติธรรมไทย และประการสุดท้าย คือ ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการไม่กำหนดการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือคำสั่งศาลฎีกาในคดีเลือกตั้งโดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) จากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญกับกระบวนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมด้านคดีเลือกตั้ง
ผลการวิจัยพบว่า 1. คณะกรรมการการเลือกตั้งมีการใช้อำนาจในการสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีเลือกตั้งอันเกิดจากการที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในองค์กรเพียงองค์กรเดียว ส่งผลกระทบต่อปัญหาของการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เห็นควรให้มีการแก้ไขเนื้อหาตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 224 มาตรา 225 โดยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีอำนาจและมีหน้าที่ในการจัดการการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว และให้การตรากฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีการสืบสวน สอบสวน การไต่สวน และการพิจารณาคดี ต้องออกหรือตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น รวมถึงการกำหนดให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินหรือวินิจฉัยคดีความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
2.เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือการสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวมีความเป็นเอกภาพและเกิดความเป็นธรรม เห็นควรให้มีการกำหนดคำนิยามของคำว่า “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560
3.การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย คือ หลักการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมถึง ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดให้นำวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งในระบบไต่สวน มาใช้กับการพิจารณาคดีเลือกตั้งของศาลยุติธรรมไทย จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขเนื้อหาของบทบัญญัติมาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และให้มีการตราร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง พ.ศ. .... เพื่อกำหนดรายละเอียดขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเลือกตั้งโดยเฉพาะ
4 การไม่กำหนดการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือคำสั่งศาลฎีกาในคดีเลือกตั้ง เป็นการไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีที่ได้รับการกระทบสิทธิ ทั้งที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่เท่าที่ควร อันเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด ผู้วิจัยเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายที่กำหนดอำนาจของศาลในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของคดีระดับชาติและระดับท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้คู่พิพาทในคดีซึ่งไม่พอใจในผลของคำวินิจฉัย คำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาล ให้สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ เพื่อให้คู่ความได้ใช้สิทธิในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลล่างอีกครั้งหนึ่ง
References
Guidelines for reform of the electoral system and political parties (Nor. 54), by Bunsri, 2012, Bangkok: King Prajadhipok Institute.
Miwongukho Bunsri,. (2012). Guidelines for reform of the electoral system and political parties. Bangkok: King Prajadhipok Institute.

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
"บทความวิชาการในวารสารฉบับนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเท่านั้น"
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์