การศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

Main Article Content

นริศ วศินานนท์

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันและแนวโน้มการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในอนาคต แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่  ด้านนโยบายและการส่งเสริมการเรียนการสอน  หลักสูตร  ตำราหนังสือแบบเรียนและสื่อการสอน ผู้สอน  ผู้เรียน และด้านความร่วมมือกับหน่วยงาน

ผลการศึกษาพบว่า (1) นโยบายและการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษา มีสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการคอยกำกับดูแลและสนับสนุนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน แม้ว่าได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมหลายแผนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่ได้ดำเนินการเป็นที่ประจักษ์และครอบคลุมแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางของการเรียนการสอนภาษาจีนในอนาคตและยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่มาช่วยดูแลส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนโดยตรง (2) ด้านหลักสูตร ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรการสอนภาษาจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นน้อยมากและใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หลักสูตรที่เปิดสอนเดิมได้พัฒนาหลักสูตรเป็นวิชาเอก โทและเลือกเสรี ส่วนชื่อของหลักสูตรแม้ว่าใช้ชื่อว่าหลักสูตรภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีแนวโน้มเป็นหลักสูตรด้านสายวิชาชีพมากขึ้น  (3) ด้านตำราหรือหนังสือแบบเรียนส่วนใหญ่ยังใช้หนังสือของประเทศจีน แม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้เรียบเรียงเขียนขึ้นแต่ยังขาดความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นระบบทั้งหลักสูตร  (4) ด้านผู้สอน ผู้สอนแม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งด้านคุณวุฒิและตำแหน่งวิชาการ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของจำนวนที่เพิ่มขึ้นของอาจารย์วุฒิการศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโทยังไม่ได้สัดส่วน และตำแหน่งวิชาการศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์มีจำนวนน้อยมาก (5) ด้านผู้เรียน ผู้เรียนส่วนใหญ่มีพื้นฐานภาษาจีนจากระดับมัธยมศึกษามาแล้ว 3 ปี แต่การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการเรียนต่อยอด ผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องเริ่มเรียนใหม่และไม่ได้เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่อจากระดับมัธยมศึกษา ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา  (6) ด้านความร่วมมือ สถาบันอุดมศึกษามีการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในด้านหลักสูตรและการให้ทุนการศึกษา ระดับรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการมีความร่วมมือกับรัฐบาลของจีนแต่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้สรุปประเด็นปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในมิติหลากหลายด้าน ล้วนเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวไกลต่อไป

Article Details

Section
Articles
Author Biography

นริศ วศินานนท์

คณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สมุทรปราการ 10540