พัฒนาการของนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: การเปรียบเทียบกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ผู้แต่ง

  • พรรณิภา อาษาภา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ทิพาพร พิมพิสุทธิ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ปิยะนุช เงินคล้าย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • สุรพงษ์ มาลี ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

เบี้ยยังชีพฯ, ผู้ประกอบการนโยบาย, หน้าต่างนโยบาย

บทคัดย่อ

         ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาพัฒนาการของกระบวนการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย (2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้กระบวนการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพฯในแต่ละยุคมีความเหมือนหรือแตกต่างกัน  (3) เพื่อศึกษาบทบาทของผู้ผลักดันนโยบายหรือผู้ประกอบการทางนโยบาย  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกชนิดกึ่งมีโครงสร้างกับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องหรือมีส่วนผลักดันนโยบาย จำนวน 7 ราย ผู้วิจัยเน้นการตรวจสอบแบบสามเส้า ด้านข้อมูล ด้านวิธีการรวบรวมข้อมูล และด้านทฤษฎี  มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเนื้อหาข้อมูลอยู่เสมอกับแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ไม่ติดยึดแหล่งข้อมูลใดแหล่งข้อมูลหนึ่งมากจนเกินไป

         การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์ ชี้ว่า (1) นโยบายเบี้ยยังชีพฯเป็นผลมาจากการมาบรรจบกันของกระแสการเมือง กระแสปัญหา และกระแสนโยบาย สะท้อนลักษณะเด่นในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ของ 3 ยุค ได้แก่ ยุคนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นสวัสดิการแนวทางใหม่ให้เบี้ยยังชีพฯเฉพาะผู้ยากไร้ 200บาทต่อเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2536 ในยุคของนายชวน หลีกภัย หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะความเป็นจริงและผู้สูงอายุได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีการปรับเพิ่มเป็น 300 บาทและ 500 บาทต่อเดือนตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจ  มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2551 ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นให้ทุกคนแบบถ้วนหน้า ตรึงอัตราไว้ที่ 500 บาทต่อเดือน และในปี 2554 ยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ทุกคน อัตราเป็นขั้นบันได 600-1,000 บาทต่อเดือน (2) ในเรื่องของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพฯที่แตกต่างกัน และผู้ที่มีบทบาทผลักดันนโยบาย พบว่า ยุคนายอานันท์ กลุ่มผลประโยชน์เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการเข้าสู่วาระนโยบาย  การตัดสินใจเชิงนโยบายโดยคณะทำงานฯ สะท้อนการกำหนดนโยบายแบบเน้นการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technocratic)   โดยมีนายอานันท์เป็นผู้สนับสนุนนโยบาย (policy advocate)  ทำให้รัฐบาลมีนโยบายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ยากไร้ 200 บาทต่อเดือน ยุคนายอภิสิทธิ์มีการพิจารณาข้อมูลย้อนกลับเห็นว่าเบี้ยยังชีพฯที่เลือกจ่ายไม่เป็นธรรม  จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นให้ทุกคน 500 บาทต่อเดือน  สะท้อนการกำหนดนโยบายแบบการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา (managerial)  โดยมีนายอภิสิทธิ์เป็น ผู้ประกอบการนโยบายบริหารจัดการ (administrative policy entrepreneur) ส่วนยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นยุคต่อเนื่องของนโยบายที่เน้นเอาใจประชาชนเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง  พบว่าผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง  สะท้อนการกำหนดนโยบายแบบประชานิยม (populist)  ให้เบี้ยยังชีพฯอัตราขั้นบันได โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์เป็น ผู้ประกอบการนโยบายทางการเมือง (political policy entrepreneur)   ทั้งนี้ กระแสการเมืองเป็นการเปิดหน้าต่างนโยบาย (policy window) ให้ประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นนโยบายของรัฐบาล  ข้อเสนอแนะจากการศึกษาเสนอว่าภาครัฐควรเร่งดำเนินการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ  เพื่อให้ในอนาคตการจ่ายเบี้ยยังชีพฯ จะได้มีสัดส่วนลดลงไป 

References

ปิยากร หวังมหาพร. (2546). นโยบายผู้สูงอายุของประเทศไทย.วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
องค์การแรงงานระหว่างประเทศและคณะทำงานร่วมขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2556. (2556). การประเมินการคุ้มครองทางสังคมจากการปรึกษาหารือระดับชาติเพื่อก้าวสู่ฐานการคุ้มครองทางสังคมภายใต้บริบทของประเทศไทย. ค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2559, จาก http://www.unicef.org/thailand/tha/ILO_TH.pdf
วรเวศม์ สุวรรณระดา. (2557). ปฏิรูปบำนาญภาครัฐ. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์.(2558). นโยบายสาธารณะ : แนวคิด การวิเคราะห์และกระบวนการ(พิมพ์ครั้งที่ 28). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์เสมาธรรม.
ธิดา ศรีไพพรรณ (ม.ป.ป.). เบี้ยยังชีพ: แนวทางใหม่ในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ, เอกสารอัดสำเนา, กรมประชาสงเคราะห์. ม.ป.ท..
กรมกิจการผู้สูงอายุ, กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ. (ม.ป.ป.). พัฒนาการดำเนินงานเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา.
อานันท์ ปันยารชุน. (ม.ป.ป.). บทบาททางการเมือง.ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2561, จากฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th
Anderson, J. E. (1984). Public Policy-Making (Third Edition). New York: Holt, Rinehart and Winston.
Capella, Ana Claudia N. (2012). Translating Ideas into Action: The Policy Entrepreneur Role at the Public Policy Process. Retrieved November 29, 2017, from (PDF) paperroom.ipsa.org>paper_17991
Dunn, W.N. (1994). Public Policy Analysis: An Introduction (Second Edition). Prentice-Hall International, Inc.
Dye, T. R. (2011). Understanding Public Policy (13th. ed.). Pearson Education, Inc.
Kingdon, J.W. (1995). Agendas Alternatives and Public Policies (2nd ed.). New York: HarperCollins College Publishers.
Stewart, J., Hedge, D.M. and Lester, J.P. (2008). Public Policy: An Evolutionary Approach (Third Edition). Thomson Wadsworth.
Roberts, N. C. and King, P. J. (1991, April). Policy entrepreneurs: Their Activity Structure and Function in the Policy Process. Journal of Public Administration Research and Theory, 1, 147-175.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-11-28