ที่มาของเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2548 -2557

ผู้แต่ง

  • ศุภชัย ผุยแก้วคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • สุรพล ราชภัณฑารักษ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • สมบูรณ์ สุขสำราญ ราชบัณฑิตสถาน
  • ชัยชนะ อิงคะวัต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

ที่มาของเงินทุน, พรรคการเมือง, ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

บทคัดย่อ

          การวิจัยเรื่อง ที่มาของเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2557 มีวัตถุประสงค์ของดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีดังต่อไปนี้ (1) เพื่อศึกษาความจำเป็นที่พรรคการเมืองนั้น ๆ ได้มาซึ่งเงินทุนจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่การให้เงินสนับสนุนต่อพรรคการเมืองโดยรัฐไทย รวมทั้งความจำเป็นในการได้มาของเงินทุนของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างกลุ่มทุน พรรคการ เมือง ประชาชนและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยการศึกษาใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary survey) เป็นการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ทั้งที่เป็นข้อมูลเชิงปฐมภูมิและข้อมูลเชิงทุติยภูมิ รวมทั้ง การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) เป็นการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant interview) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้หรือมีข้อมูลในเรื่องที่ผู้วิจัยกำลังศึกษาและมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว โดยกำหนดตัวผู้ตอบบางคนแบบเจาะจงเอาไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และนำไปประมวลผลให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย

          ผลการวิจัยพบว่า

           กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทและมีการดำเนินการทางการเมืองที่สำคัญ ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2557 ที่ส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในสังคมไทย โดยรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ในเรื่องของการที่เงินทุนส่งผลต่อการดำเนินการทางการเมือง รวมถึงที่มาของเงินทุนส่งอิทธิพล หรือการครอบงำในการดำเนินการทางการเมืองของพรรคการเมืองหรือกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งจากการวิจัยในเรื่องนี้ทำให้ผู้วิจัยได้ค้นพบปัจจัยสำคัญบางประการที่ที่มาของเงินทุนสนับสนุนต่อพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีส่วนส่งผลต่อการดำเนินการทางการเมืองของกลุ่มการเมืองนั้น ดังนี้

          การทำงานของเงินทุนในทางการเมืองของไทยกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทยซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลและนักการเมืองในช่วงนั้น มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่บางกลุ่มที่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตรจากลุ่มชินวัตรในตอนนั้น ได้รวบรวมนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มทุนใหญ่อื่น ๆ ที่มีความสนใจ เข้ามาทำการเมืองโดยตรงในชื่อของพรรคไทยรักไทย

          ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคือ การที่พรรคมีเงินทุนจากหัวหน้าพรรคและกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคเป็นจำนวนมาก ทำให้มีทุนใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้ง จากการสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากจากหัวหน้าพรรค ดร.ทักษัณ ชินวัตร และครอบครัว รวมทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เป็นพันธมิตรทำให้กลุ่มการเมืองภายใต้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีสถานะทางด้านการเงินที่แข็งแรงและมั่นคงและเป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลุ่มของตนเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในการบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

          จะเห็นได้ว่าการทำงานของเงินทุนในการเมืองไทย จึงมีส่วนสำคัญในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะหลังการปฏิรูปทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปี พ.ศ. 2540 และ 2550 เงินทุนถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ทั้งในและนอกสภาการมีรัฐบาลที่ขาดความเป็นกลางและเข้ามามีอำนาจรัฐทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยชน์ส่วนตัวกับพวกพ้องอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน โดยมีเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด ขาดความยุติธรรม และนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทย

           ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทางการเมือง จากการดำเนินนโยบายทางการเมืองสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มนั้นมีลักษณะอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมในสังคมไทย กลุ่มคนบางกลุ่มมีความคุ้นเคยกับการเมืองที่มีการต่อรองและมีการแลกเปลี่ยนกันทางด้านผลประโยชน์จากการศึกษาพบว่ากลุ่มพรรคการเมืองสมัยใหม่ หลายๆ พรรคมีการอาศัยอำนาจรัฐ สร้างระบบอุปถัมภ์แหล่งใหม่พร้อมกับให้ผลประโยชน์ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมผ่านนโยบายสาธารณะในรูปแบบของประชานิยมอย่างมหาศาล

           ซึ่งความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทางการเมืองดังกล่าวนี้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะอยู่ในฐานะของผู้อุปถัมภ์ และประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์จะอยู่ในฐานะของผู้ได้รับการอุปถัมภ์ โดยนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่มีแนวคิดที่พยายามที่จะช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ ต่อคนจำนวนมากในสังคม เพื่อหวังผลทางการเมืองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะในระบอบการเมืองการปกครองของไทยประชาชนคนหมู่มากย่อมเป็นเสียงส่วนใหญ่ ทางการเมือง และมีความชอบธรรม ที่จะผลักดันให้ผู้ดำเนินนโยบายประสบชัยชนะในการเลือกตั้งได้ในที่สุด

References

ฉัตรชัย ธนาวุฒิ. (2559). การศึกษากระบวนการปฏิรูปทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บรรยง ผิวผ่อง และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ. (2558). การจัดการชุมนุมทางการเมือง. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. วารสารภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ปีที่4(2) 218-234.
บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ. (2538). รายงานการวิจัยการปรับปรุงระบบพรรคการเมืองไทย.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์.(2559). การศึกษาเปรียบเทียบเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ในประเทศไทยและอินโดนีเซียนำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองหรือคอร์ปชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมหาวิทยาลัยมหิดล 6 ธันวาคม 2559.
พลอย ธรรมาภิรานนท์.(2560). นายทุนไทยในการเมือง : ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข ค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2561. จาก https://www.the101.world/thai-capitalist
ลิขิต ธีรเวคิน. (2558). ระบบอุปถัมภ์ ผลในทางบวกและลบ. กรุงเทพฯ: สยามรัฐ
วิสุทธิ์ โพธิแท่น. (2544). การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไทย. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
สังศิต พิริยะรังสรรค์. 2526. ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ.2475-2503. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิงห์ทอง บัวชุม.(2550). การเกิดขึ้นและการล่มสลายของพรรคการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2547. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สิงห์ทอง บัวชุม. (2549). การบริหารพรรคการเมืองไทย ตามแนวทางการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

สัมภาษณ์
แกนนำ ก. [สัมภาษณ์]. พรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ, เมษายน2561.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-13