การเปรียบเทียบคุณภาพของวิธีการให้คะแนนความรู้บางส่วนระหว่างวิธีประยุกต์ของคูมบ์ วิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกและวิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูก
Keywords:
วิธีการให้คะแนนความรู้บางส่วน, วิธีประยุกต์ของคูมบ์, วิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูก, วิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกAbstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความยาก อำนาจจำแนก ความเที่ยง และฟังก์ชันสารสนเทศของแบบสอบที่ได้จากวิธีประยุกต์ของคูมบ์ วิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูก และวิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูก ตัวอย่างวิจัยเป็นนักเรียนชั้น ม.4 จำนวน 1,251 คน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 และ 2 เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี เรื่อง พันธะโคเวเลนต์ เป็นแบบสอบหลายตัวเลือก (multiple choice) จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม IRTPRO 4 Student และเปรียบเทียบความแตกต่างของความเที่ยงโดยใช้ Feldt test
ผลการวิจัย พบว่า วิธีประยุกต์ของคูมบ์ส่วนใหญ่มีค่าความยากและค่าอำนาจจำแนกสูงที่สุด ส่วนวิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกส่วนใหญ่มีค่าความยากต่ำสุดและวิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกส่วนใหญ่มีค่าความยากปานกลาง ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้มีค่าอำนาจจำแนกใกล้เคียงกัน วิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกและวิธีประยุกต์ของคูมบ์และวิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกมีค่าความเที่ยงไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และจากการวิเคราะห์ฟังก์ชันสารสนเทศของแบบสอบที่ได้จากทั้ง 3 วิธี พบว่า วิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกมีฟังก์ชันสารสนเทศของแบบสอบสูงกว่าวิธีตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกและวิธีประยุกต์ของคูมบ์ ตามลำดับ โดยทั้ง 3 วิธีจะให้สารสนเทศมากเมื่อผู้สอบมีความสามารถระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาคุณภาพของวิธีการตรวจให้คะแนนความรู้บางส่วนจากความเที่ยงและสารสนเทศเทศของแบบสอบ พบว่า วิธีประยุกต์ตัดตัวลวง–เลือกตัวถูกเป็นวิธีที่มีคุณภาพมากที่สุด