แนวทางการจัดกิจกรรมชมรมดนตรีไทยในระดับมัธยมศึกษา เพื่อเสริมสร้างกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร
Keywords:
ชมรมดนตรีไทย, เรียนรู้แบบร่วมมือ, ชมรมนอกเวลาเรียนAbstract
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวรในชมรมดนตรีไทยของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาเริ่มต้นและยาวนาน 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมชมรมดนตรีไทยในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ วิธีดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยได้คัดเลือกกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลสำคัญ คือ ครูและนักเรียนในชมรมดนตรีในของโรงเรียนคีรีเวสรัตนเพียรอุปถัมภ์ จังหวัดตราด เป็นชมรมดนตรีไทยในโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านชมรมดนตรีไทยที่เริ่มต้นก่อตั้ง และโรงเรียนวัดทรงธรรม จังหวัดสมุทรปราการ เป็นชมรมดนตรีไทยในโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านชมรมดนตรีที่มีความมั่นคงยาวนานเกิน 10 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์สรุปผล จากนั้นตีความโดยสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Analysis Induction) และนำเสนอข้อมูลแบบความเรียงโดยใช้การพรรณนาความ (Descriptive)
ผลการวิจัยพบว่า 1) ทั้งโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาทั้งเริ่มต้นและยาวนานต่างมีลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีกิจกรรมที่สะท้อนถึงการรวมกลุ่มที่มีการเรียนรู้แบบร่วมมือในชมรมดนตรีไทยตามตัวชี้วัดทั้ง 5 ได้แก่ (1) การช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในด้านกิจกรรมทางดนตรีและความเป็นอยู่ในชมรม (2) การมีปฏิสัมพันธ์ในชมรม ผู้เรียนและครูผู้สอน ปรึกษาหารือกันเพื่อการฝึกซ้อมและการประกวดแข่งขัน (3) ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนในด้านทักษะเครื่องมือเอกที่แต่ละคนต้องฝึกซ้อมรวมทั้งการดูแลเครื่องดนตรีและชมรมดนตรีไทย (4) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย การซ้อมแต่ละเครื่องมือและการซ้อมรวมกลุ่มย่อยที่แบ่งตามระดับทักษะ (5) กระบวนการกลุ่มของชมรมดนตรีไทยที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันในชมรมและการซ้อมรวมวงเพื่อพัฒนาทักษะรายกลุ่มของผู้เรียน 2) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้สังเคราะห์และนำเสนอแนวทางการที่เป็นคุณลักษณะดนตรีไทยที่ส่งเสริมกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร