ตัวบ่งชี้คุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย: การประยุกต์โมเดลต้นไม้จริยธรรม
Keywords:
คุณธรรม, จริยธรรม, ตัวบ่งชี้, ต้นไม้จริยธรรม, นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายAbstract
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาตัวบ่งชี้คุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลต้นไม้จริยธรรมกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ) จากทั่วประเทศจำนวน 1,090 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม จำนวน 72 ข้อ มีค่าดัชนี IOC ตั้งแต่ 0.60-1.00 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ของตัวบ่งชี้ มีค่าตั้งแต่ 0.536-0.843 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับสอง
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1) ตัวบ่งชี้คุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า ตัวบ่งชี้คุณธรรมและจริยธรรมประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก 14 ตัวบ่งชี้ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 ความรู้เชิงจริยธรรม ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ 3 ตัวได้แก่ สุขภาพจิต สติปัญญา และประสบการณ์ทางสังคม องค์ประกอบที่ 2 ทัศนคติเชิงจริยธรรม ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ 3 ตัวได้แก่ ทัศนคติและค่านิยม ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน และความเชื่ออำนาจในตน องค์ประกอบที่ 3 เหตุผลเชิงจริยธรรม ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ 2 ตัวได้แก่ เจตนาทำเพื่อส่วนรวม และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และองค์ประกอบที่ 4 พฤติกรรมเชิงจริยธรรม ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ 6 ตัวได้แก่การดูแลสุขภาพ การทำงาน การขยันเรียน การเป็นพลเมืองดี การอบรมเลี้ยงดู และการพัฒนาสังคม
2) ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดลคุณธรรมและจริยธรรมด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับสอง พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 52.90; df = 40; p = 0.08; GFI = 0.99; AGFI = 0.98; RMR = 0.005; RMSEA = 0.02) โดยมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานของตัวบ่งชี้ทุกตัวมีค่าเป็นบวกมีขนาดตั้งแต่ 0.49 ถึง 0.84