แนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรีในระดับประถมศึกษา
Keywords:
เทคโนโลยีดนตรี, แอปพลิเคชั่นดนตรี, การเรียนรู้ดนตรี, นักเรียนชั้นประถมศึกษาAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจการใช้สื่อการสอนในชั้นเรียนวิชาดนตรีสำหรับนักเรียนประถมศึกษา และ 2) นำเสนอแนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรีสำหรับนักเรียนประถมศึกษา ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาจาก 1) แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนดนตรีระดับประถมศึกษาในประเทศไทย และ 2) แนวคิดและทฤษฎีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนดนตรี วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ใช้การตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Induction)
ผลการวิจัยพบว่า แอปพลิเคชั่นดนตรีแบ่งออกเป็น 9 แอปพลิเคชั่นโดยคัดเลือกจากความสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ดนตรีของผู้เรียนประถมศึกษา และสามารถใช้งานในระบบปฏิบัติการ Windows, iOS และ Android ได้ ดังนี้ 1) Soundtrap 2) MuseScore 3) Harmony Builder 4) MusicTheory.net 5) Perfect Piano 6) GarageBand 7) Audio Evolution Mobile Studio 8) Playscore และ 9) HarmonyWiz โดยการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีมีส่วนช่วยในการเรียนการสอนดังนี้ 1) ช่วยให้นักเรียนมีสมาธิหรือจดจ่ออยู่กับเพลง 2) ช่วยให้นักเรียนมีทักษะการฟังและการเล่นดีขึ้น แม้จะไม่ได้เพิ่มทักษะการเล่นดนตรีให้ผู้เรียนโดยตรง แต่สิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเป็นพื้นฐานไปสู่การเล่นดนตรีในอนาคต ทั้งนี้การใช้งานก็มีข้อเสียเช่นกัน หากครูไม่สามารถโยงการใช้งานของแอปพลิเคชั่นให้เข้าสาระการเรียนรู้ได้ จะทำให้เด็กสนใจแต่กติกา และความสนุกของแอปพลิเคชั่น ไม่ได้สนใจสาระเนื้อหาดนตรี