แนวทางการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างความผูกพันในงาน โรงเรียนพรตพิทยพยัต เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
Keywords:
การพัฒนาครู, ความผูกพันในงาน, โรงเรียนมัธยมศึกษาAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของความผูกพันในงานของครู โรงเรียนพรตพิทยพยัต 2. เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างความผูกพันในงานของครู โรงเรียน พรตพิทยพยัต วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหารและคณะครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนพรตพิทยพยัต จำนวน 148 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ฐานนิยม (Mode) และค่าเฉลี่ย () วิเคราะห์ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (PNImodified) โดยใช้สูตร Modified Priority Needs Index (PNImodified)
ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัจจุบันแยกรายด้านตามความผูกพันในงานทั้ง 4 งาน นั้น สภาพปัจจุบันในด้านการมีใจจดจ่อในงานการจัดการเรียนการสอน ด้านความกระฉับกระเฉงในการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ด้านการอุทิศตนในการรู้จักนักเรียนและการรับผิดชอบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และด้านการมีใจจดจ่อในการรับผิดชอบงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน อยู่ในระดับมากทั้งหมด ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ทั้ง 4 งานจะอยู่ในระดับมากที่สุดทั้งหมด และ เมื่อพิจารณารายด้านถึงความต้องการจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างความผูกพันในงานนั้น 1) ด้านความผูกพันกับงานการสอน มีความต้องการจำเป็นสูงสุด คือ ด้านการอุทิศตนในการเตรียมการสอนและการผลิตสื่อการสอน 2) ด้านความผูกพันกับงานวิจัยในชั้นเรียน สูงสุด คือ ด้านการมีใจจดจ่อในการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน 3) ด้านความผูกพันกับงานดูแลและช่วยเหลือนักเรียน สูงสุด คือ ด้านการอุทิศตนในการคัดกรองและส่งเสริมช่วยเหลือนักเรียนในด้านต่าง ๆ และ 4) ด้านความผูกพันกับงานบริการและงานของโรงเรียน สูงสุด คือ ด้านการอุทิศตนในการรับผิดชอบงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน โดยได้แนวทางการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างความผูกพันในงาน 3 แนวทาง ดังนี้ 1) การพัฒนาในขณะปฏิบัติงาน 2) การพัฒนานอกจากการปฏิบัติงาน และ 3) การพัฒนาตนเอง ซึ่งมีวิธีการในการพัฒนา 20 วิธีดำเนินการ และวิธีดำเนินการที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ 3 วิธีการแรก คือ 1) การเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน โดยศึกษาตามสภาพจริง 2) ใช้วิธีพัฒนาด้วยการสอนงาน โดยมอบหมายให้ครูผู้เชี่ยวชาญหรือครูพี่เลี้ยงดูแล และ 3) การศึกษาดูงาน และเรียนรู้หน่วยงานที่เป็นต้นแบบ หรือมีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ