การศึกษาผลของสภาพแวดล้อมการฝึกวิจัยและการรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการต่อความซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา
Keywords:
สภาพแวดล้อมการฝึกวิจัย, การรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการ, ความซื่อสัตย์ทางวิชาการAbstract
การรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการ เป็นความคิดที่นักศึกษาแสดงถึงการรับรู้ต่อสิทธิต่าง ๆ ที่เชื่อว่าตน
พึงได้รับจากอาจารย์เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จทางการศึกษา การรับรู้ในทิศทางที่ไม่สมเหตุสมผลส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเรียนที่ไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การทุจริตทางวิชาการ ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้หากมีสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่เหมาะสม การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างและพัฒนาเครื่องมือในการวัดสภาพแวดล้อมการฝึกวิจัย การรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการ และความซื่อสัตย์ทางวิชาการ และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความซื่อสัตย์ทางวิชาการของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ตัวอย่างวิจัย คือ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ศึกษาในหลักสูตรที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบการศึกษา จำนวน 92 คน เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถาม มีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ ผลการวิจัยพบว่า
1) การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาอยู่ระหว่าง .25-1.00 มีค่าความเที่ยงทั้งฉบับในการทดลองใช้ครั้งที่ 1 อยู่ระหว่าง .607-.945 และในการทดลองครั้งที่ 2 มีค่าอยู่ระหว่าง .827-.958 ผลการตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้าง พบว่า โมเดลการวัดของทุกตัวแปรมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์
2) บัณฑิตศึกษามีสภาพแวดล้อมการฝึกวิจัยและการรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการเชิงบวกอยู่ในระดับมาก มีการรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการเชิงลบและความซื่อสัตย์ทางวิชาการในระดับปานกลาง จากการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า ตัวแปรอิสระร่วมกันทำนายความซื่อสัตย์ทางวิชาการได้ร้อยละ 16.4 โดยสภาพแวดล้อมการฝึกวิจัยและการรับรู้สิทธิอันพึงได้รับทางวิชาการเชิงบวกสามารถทำนายความซื่อสัตย์ทางวิชาการได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05