กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะของกลุ่มจิตอาสา
Keywords:
กระบวนการเรียนรู้, จิตสาธารณะ, กลุ่มจิตอาสาAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ในการเสริมสร้างจิตสาธารณะของกลุ่มจิตอาสา พื้นที่ศึกษา ได้แก่ 1) กลุ่มจิตอาสาบ้านชาเลม บ้านพักฉุกเฉิน 2) สำนักงานคุ้มครองเด็ก สภาคริสตจักรในประเทศไทย 3) สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย แผนกเยาวชน และ 4) ฝ่ายสังคม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลของการวิจัยพบว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะของกลุ่มจิตอาสา ประกอบด้วย 4 กระบวนการ ได้แก่ 1) การตอบสนองต่อสถานการณ์สังคมที่เกิดขึ้น (M = 4.06) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยรวมมากที่สุด คือ ให้เกียรติต่อผู้อื่น (M = 4.37) 2) การกำหนดวิธีการเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ (M = 4.17) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยรวมมากที่สุด คือ เห็นความสำคัญของการมีเครือข่ายการทำงานระหว่างกลุ่มจิตอาสา (M = 4.28) 3) กระบวนการเสริมสร้างจิตสาธารณะ (M = 3.88) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยรวมมากที่สุด คือ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคม (M = 3.98) และ 4) การเปลี่ยนแปลงหลังจากร่วมกิจกรรม (M = 4.17) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยรวมมากที่สุด คือ เห็นความสำคัญของการทำจิตสาธารณะมากขึ้น (M = 4.22) ปัจจัยที่มีผลต่อการเสริมสร้างจิตสาธารณะต่อสมาชิกกลุ่มจิตอาสา คือ ครอบครัว กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการเสริมสร้างจิตสาธารณะมากที่สุด การเผยแพร่กระแสโลกปัจจุบันผ่านโซเชียลมีเดียเป็นทั้งปัจจัยเสริมสร้างและอุปสรรค โซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะของกลุ่ม