อิสรเสรีภาพของสื่อศิลปะการแสดงในการนำเสนอประเด็นทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 : กรณีศึกษาพระจันทร์เสี้ยวการละครและกลุ่มละคร B-floor

Main Article Content

ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์

บทคัดย่อ

การศึกษา “อิสรเสรีภาพของสื่อศิลปะการแสดงในการนำเสนอประเด็นทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 : กรณีศึกษาพระจันทร์เสี้ยวการละครและกลุ่มละคร B-floor” มุ่งศึกษาสถานภาพด้านอิสรเสรีภาพของพระจันทร์เสี้ยวการละครและกลุ่มละคร B-Floor หลังรัฐประหาร 2557 และเพื่อวิเคราะห์การนำเสนอการปรับตัว/ต่อรองของกลุ่มละครขนาดเล็กทั้งสองกลุ่มในการยืนยันเรื่องเสรีภาพของตนเอง


ในการวิจัยครั้งนี้เลือกใช้กรณีศึกษาจากกลุ่มละครขนาดเล็กในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร และกลุ่ม B-Floor ทั้งนี้ศึกษาผ่านรูปแบบและเนื้อหาของผลงานการแสดงที่นำเสนอประเด็นทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2557 – 2560 จำนวน 5 เรื่องได้แก่ “Between (ระยะใกล้อันเวิ้งว้าง)”, รื้อ (being Paulina Salas and the practice)”, “Something Missing”, เรื่อง Ceci n'est pas la politique “นี่ไม่ใช่การเมือง” และ เรื่อง “Fundamental” การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบ “การวิเคราะห์สาระ” (Content Analysis) ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Analysis of Qualitative Data) ผ่านการตีความ (Interpretative Approach) ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์ทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 ส่งผลต่ออิสรเสรีภาพของกลุ่มละครขนาดเล็กอย่างชัดเจน แต่พระจันทร์เสี้ยวการละครและกลุ่ม B-floor ยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานละครเวทีเพื่อสื่อสาร“เสรีภาพทางความคิด”กับผู้ชมตลอดระยะเวลา 4 ปี เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ทางศิลปะคือพื้นที่แม่แบบของปฏิบัติการทางประชาธิปไตยอย่างไม่มีพื้นที่ใดเทียบเคียงได้ในทางสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าศิลปะสามารถใช้เป็นเครื่องมือบันทึกช่วงเวลาของสังคมแต่ละยุคสมัยและเป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพในการสะท้อนความจริงผ่านการสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม


ในด้านการปรับตัว/ต่อรองกับอำนาจนำเพื่อยืนยันเรื่องเสรีภาพของกลุ่มละครขนาดเล็กในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การใช้พื้นที่ทางศิลปะของละครเวทีในการทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด (war of position) ผ่านละครเวทีทั้ง 5 เรื่องในการสร้างกระบวนการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์/ประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญร่วมกันนั่นคือ ประเด็นเรื่อง ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’, ‘การชำระและบันทึกประวัติศาสตร์’ (ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่าหรือบิดเบือนและทำให้พล่าเลือนไป เช่น เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น 6 ตุลา 2519 ฯลฯ ) ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’, ‘ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม’ และ ‘การล่าแม่มด’(การทำร้าย/การกำจัดคนที่คิดต่างไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) ในส่วนที่สอง คือ การที่กลุ่มละครขนาดเล็กทั้งสองกลุ่มได้ใช้ผลงานละครเวทีในการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในทุกภาคส่วน (parts) สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองของตนได้อย่างเต็มที่ ด้วยการใช้รูปแบบในการนำเสนอผลงานละครเวทีของพระจันทร์เสี้ยวการละครและกลุ่มB-floor ซึ่งมีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ Collaboration การสร้างการมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของอิสรเสรีภาพที่ประกอบไปด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างงานระหว่างผู้กำกับการแสดง นักแสดงและทีมงาน และการมีส่วนร่วมระหว่างนักแสดงกับผู้ชม ซึ่งเป็นเรื่องของสุนทรียะในการถกเถียงมากกว่าสยบยอม เป็นเรื่องของการแสดงออกมากกว่าเก็บกดปิดกั้น เป็นเรื่องของการนำเอาผู้ที่ไม่เคยรับรู้ว่าเกี่ยวข้องมาเกี่ยวข้องกัน และเป็นการให้ที่ยืนในสังคมที่มีการเมืองให้กับผู้ที่ไร้ที่ทางในสังคม

Article Details

บท
ศิลปะการแสดง

References

ณัฐนนต์ สิปปภากุล. (18 ตุลาคม 2555). จากศิลปะเพื่อชีวิตสู่ศิลปะสร้างสรรค์สังคม.สืบค้นจาก https://art-culture-academy2.blogspot.com/2012/10/004.html
วันรัก สุวรรณวัฒนา. (10 ธันวาคม 2553). ศิลปะ เสรีภาพและประชาธิปไตย. สืบค้นจากhttps://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291958039&grpid=&catid.
omuretto. (26 มกราคม 2558). บางละเมิด :The land ‘We’ do not own. สืบค้นจาก https://pantip.com/topic/33155192
Gramsci, A. (1971). On Intellectual. In Prison Notebook. Quintin Hoare and Geoffrey Nowell. Smith (ed). New York: International Publisher.
Rancière, Jacque. (1998). Dis-agreement: Politics and Philosophy. University of Minnesota Press. Minneapolis
___________. (2006). “Thinking Between Discipline : an aesthetic of knowledge,” Jon Roffe (trans.) PARRHESIA. (1), 1 - 12.