การสร้างสรรค์อาภรณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อตอบสนองต่อกาลเทศะและประโยชน์ใช้สอย

Main Article Content

ชนกนาถ มะยูโซ๊ะ
มิยอง ซอ
เกรียงศักดิ์ เขียวมั่ง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมในการเลือกซื้อเสื้อผ้าและปัญหาอุปสรรคในการสวมใส่เครื่องแต่งกาย ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของกลุ่มผู้พิการทางสายตานำมาวิเคราะห์และประมวลองค์ความรู้ สร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับสตรีพิการทางสายตา ประเภทชุดทำงานงานจำนวน 6 ชุด ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทั้งวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงปริมาณร่วมกัน แหล่งข้อมูลปฐมภูมิจากการลงภาคสนามสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อเสื้อผ้าและปัญหาอุปสรรคในการสวมใส่เครื่องแต่งกายของกลุ่มประชากรตัวอย่าง คือ สตรีพิการทางสายตา อายุระหว่าง 25-40ปี และข้อมูลทุติยภูมิจากภาคเอกสารงานวิจัย หนังสือต่างๆ พบว่า กลุ่มประชากรตัวอย่าง จำนวน 50 คน โดยการคัดเลือกแบบเจาะจง มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 13,000-16,000 บาท มีอาชีพค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนใหญ่จะมีคนสายตาดีพาไปเลือกซื้อเสื้อผ้าคิดเป็นร้อยละ 96 โดยมีปัญหาและอุปสรรคในการสวมใส่เสื้อผ้าดังนี้  ไม่สามารถทราบได้ว่าเสื้อเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังหากไม่มีป้ายคอ(ป้ายMain label), ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีซิปถอดได้, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีการติดเครื่องเกาะเกี่ยวอยู่ด้านหลัง, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีการผูกโบว์, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป, ไม่สามารถทราบสีเสื้อผ้าได้, ไม่สามารถทราบลวดลายบนเสื้อผ้า, ไม่สามารถMix and Match เสื้อผ้าให้ดูเหมาะสมได้ด้วยตนเอง จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงเลือกนำเทคนิคต่างๆมาใช้ในการแก้ปัญหา อาทิเช่น การสกรีนสีนูนเป็นอักษรเบรลล์และลวดลาย การติดตั้งQR Codeเพื่ออ่านข้อมูลของตัวเสื้อผ้า การเลือกใช้วัสดุ กระดุม ซิปที่มีขนาดเหมาะสมกับการสวมใส่ รวมถึงการเลือกใช้นวัตกรรมสิ่งทอที่สนองกับความต้องการของกลุ่มตัวอย่างเช่น ผ้ากันยับ, ผ้าป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์, ผ้าเคลือบคอลลาเจน, ผ้ารักษาอุณหภูมิเป็นต้น โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบสู่การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายชุดทำงาน สำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อเพิ่มความมั่นใจและลดความกังวลในการสวมใส่เสื้อผ้าให้ผู้พิการทางสายตามีความสุขและรับรู้ถึงความงามของเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้มากขึ้น

Article Details

บท
การออกแบบ

References

โกวิท จิตบรรจง. (2542). ศิลปะกับงานกราฟิก. สงขลา: สถาบันราชภัฏสงขลา.
ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์. (2542). ศิลปะเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้ง.
นิคอเละ ระเด่นอาหมัด. (2543). ทฤษฎีจิตรกรรม = Theory of painting.กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ปรัชญา กฤษณะพนธ์. (2557). แนวทางการออกแบบชุดกีฬาโกลบอลจากผ้าเคลือบยางกันกระแทก.กรุงเทพฯ: สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
ภารตน์ เสนาลา และคณะ. (2554). เครื่องนุ่มห่มสำหรับคนพิการ. กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้ง.
วิมลสิทธิ์ หรยางกูร. (2535). พฤติกรรมมนุษย์กับสภาพแวดล้อม มูลฐานทางพฤติกรรมเพื่อการออกแบบและวางแผน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศรีประไพ จุ้ยน้อยและคณะ. (2552). เครื่องนุ่งห่มคนพิการทางร่างกาย การออกแบบและทดลองสวมใส่ของคนพิการทางการเคลื่อนไหว. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
Yang, X., Yuan, S., & Tian, Y. (2014). Assistive clothing pattern recognition for visually impaired people. IEEE Transactions on Human-Machine Systems, 44(2), 234-243.