ธรรมาภิบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีองค์การบริหารส่วนตำบลสระคูอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • น้ำฝน ปิดตะระคะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

คำสำคัญ:

ธรรมาภิบาล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์การบริหารส่วนตำบล

บทคัดย่อ

          การศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู (2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู และ (3) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางในการพัฒนาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู กลุ่มตัวอย่างได้แก่ประชาชน 9,506 คนภายในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสระคู ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู ซึ่งเป็นแบบสอบถามแบบเลือกตอบแบบมาตราส่วนประเมินค่าและแบบสอบถามปลายเปิดวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์สถิติที่ใช้คือค่าความถี่ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)

          ผลการวิจัยพบว่า

          ประชาชน มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู จังหวัดร้อยเอ็ด โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

          การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล พบว่า ประชาชน มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู โดยภาพรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาตามหลักธรรมาภิบาล พบว่า ด้านหลักความรับผิดชอบมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน, ด้านหลักคุณธรรมและด้านหลักความโปร่งใสมีความคิดเห็นแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนด้านหลักอื่น ๆ พบว่าประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

          ปัญหาและแนวทางการพัฒนาประชาชน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลในองค์การบริหารส่วนตำบลสระคู ซึ่งได้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวคณะผู้บริหารมากกว่าองค์กรและมีผลในภาพรวมทั้ง 6 หลักอยู่ในระดับปานกลาง หากแต่ยังคงมีประชาชนเป็นบางส่วนที่ยังมีความคิดเห็นว่าผู้บริหารมีความไม่เป็นกลางทางด้านการบังคับบัญชา ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน การสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาให้ได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งรวมทั้งการไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา อุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เพียงพอ การจัดบุคคลากรได้ไม่เหมาะสมกับงาน หรือการจัดให้ทำงานมากจนเกินไปจนทำให้งานที่ทำนั้นเกิดความผิดพลาดได้ง่าย

References

กวี วงค์พุฒ. (2544). ภาวะผู้นำ. กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมวิชาชีพบัญชี.
กิตติพงศ์ อุรพีพัฒศ์. (2545). “หลักธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ: กรณีศึกษาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. สถาบันพระปกเกล้า.
เตือนใจ ฤทธิจักร. (2550). “ธรรมาภิบาลในการบริหารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามทัศนะของบุคลากรสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา.มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.
นันทพร รัฐถาวร. (2543). “การพัฒนาคุณภาพการบริการของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมาหบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ และบุญมี ลี้. (2544). “ตัวชี้วัดธรรมาภิบาล”. รายงานการวิจัย. สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพมหานคร : : คุรุสภาลาดพร้าว.
พูนศักดิ์ วาณิชวิเศษกุล. (2532). “การปกครองท้องถิ่นและพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย: กรณีศึกษาสภาตำบลบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร”. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย :.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มัทนา เหลืองนาคทองดี. (2545). “ความรู้ความเข้าใจในการบริหารองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลของนักธุรกิจไทย”. งานวิจัย. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 14. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร.
รัชนา ศานติยานนท์. (2544). รูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการที่ดีในมหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมคิด บางโม. (2545). การบริหาร. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช
Gulick อ้างถึงใน ศิริวรรณ เสรีรัตน์. (2545) ทฤษฎีองค์การ : ฉบับมาตรฐาน. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสาร,
Krejcie, R.V. and Morgan, D.W. (1970). “Determining Sample Size for Research Activities”. Educational and Psychological Measurement. 30(3): 607-610.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-29