การกำหนดความผิดและโทษทางอาญา ศึกษาเฉพาะการทำร้ายร่างกายเด็ก

ผู้แต่ง

  • กนกศักดิ์ มะอิ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, ทนายความอิสระ
  • อัจฉรียา ชูตินันทน์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

การกำหนดความผิด, โทษทางอาญา, ทำร้ายร่างกาย, ทำร้ายร่างกายเด็ก, Criminal, Liability, Punishment

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและเหตุผลในการกำหนดความผิดและโทษทางอาญากรณี
ทำร้ายร่างกายเด็กตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาแนวคิด และเนื้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายเด็กของต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางในการกำหนดความผิดและโทษทางอาญากรณีทำร้ายร่างกายเด็กให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย

ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยไม่ได้มีการกำหนดความผิดและโทษที่เป็นการคุ้มครองร่างกายเด็กเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 391 มาตรา 295 และการกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานทำร้ายเด็กที่ไม่คลอบคลุมถึงการกระทำด้วยวิธีการที่ร้ายแรง อันมีผลทำให้ผู้กระทำความผิดรับผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษและมีโอกาสในการลงมือกระทำความผิดต่อเด็กได้ง่าย
โดยไม่ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือ เมื่อบทลงโทษไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดสำนึกในการกระทำของตน จึงอาจนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำซ้อนจนติดเป็นนิสัย แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิในร่างกายเด็กและมุ่งประสงค์จะแก้ไขปัญหาการทำร้ายร่างกายเด็กไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 แต่กลับมิได้มีการกำหนดถึงการทำร้ายร่างกายเด็กไว้เป็นความผิดแต่อย่างใดมีแต่เพียงการกำหนดถึงการทารุณกรรมเด็กไว้ ซึ่งการทารุณกรรมนั้นมีลักษณะของความรุนแรงของการกระทำที่มากกว่าการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งอัตราโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ยังเป็นการกำหนดอัตราโทษที่ต่ำกว่าการทำร้ายร่างกายทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อพิจารณาจากบทกฎหมายของต่างประเทศพบว่า ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้กำหนดความผิดและโทษกรณีทำร้ายร่างกายเด็กเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นจึงขอเสนอการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเด็กขึ้นเป็นอีกหนึ่งมาตราแยกออกจากการทำร้ายร่างกายบุคคลทั่วไป โดยรวบรวมความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายตามมาตรา 391 มาตรา 295 มาอยู่ในมาตราเดียวกันและเพิ่มเหตุฉกรรจ์การทำร้ายร่างกายเด็กที่มีลักษณะของวิธีการกระทำที่ร้ายแรงและมีความเป็นอันตราย ได้แก่การใช้อาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือ
โดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เพื่อคุ้มครองสังคม และเป็นหลักประกันการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม อีกทั้งเพื่อข่มขู่ ยับยั้งการกระทำความผิดต่อเด็ก  

References

คณิต ณ นคร. กฎหมายอาญาภาคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2563.

คณิต ณ นคร. พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2553.

นวลจันทร์ ทัศนชัยกุล. ระบบงานยุติธรรมยุคใหม่. นนทบุรี: สำนักพิมพ์พรทิพย์การพิมพ์, 2556.

อัจฉรียา ชูตินันทน์. คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด. พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพมหานคร:

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. 2556).

จินตนา วัชรสินธุ์, รวิวรรณ คำเงิน, ชนกพร ศรีประสาร และ ณัชนันท์ ชีวานนท์. “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัวของเด็กวัยเรียน.” วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้. (2561): น. 191.

พิชวุฒิ เปี่ยมธรรมโรจน์, ณรงค์ ใจกล้าหาญ, ศิริชัย มงคงเกียรติศรี และ มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล.

“การกำหนดความรับผิดและโทษทางอาญา ศึกษากรณีความผิดต่อชีวิตร่างกายของเด็ก.” วารสารบัณฑิตศึกษา. ปีที่ 17. ฉบับที่ 76. (มกราคม – มีนาคม 2563): น. 25.

อัจฉรียา ชูตินันทน์. “การกำหนดเหตุฉกรรจ์เกี่ยวกับการกระทำที่ใช้วิธีการที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายกว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่นกรณีธรรมดาให้ต้องระวางโทษหนักขึ้น.” วารสารสุทธิปริทัศน์. ฉบับที่ 1. ปีที่ 35. (มกราคม - มีนาคม 2564): น. 3.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-07-27