ปัญหาทางกฎหมายในการกำหนดอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้แต่ง

  • สุธิตา บุญปาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • ผศ.ดร.สุธี อยู่สถาพร คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

ปัญหาทางกฎหมาย, การกำหนดอายุความ, ละเมิด

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

บทความฉบับนี้ จะมุ่งศึกษาถึงประวัติ แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการกำหนดอายุความในเรื่องการเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลละเมิดทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลละเมิด ว่าต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิด และรู้ตัวผู้พึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่า อายุความในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากมูลละเมิดทางแพ่ง มีการกำหนดอายุความที่สั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และเมื่อนำมาเทียบเคียงกับการกำหนด
อายุความในสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐตุรเคีย ที่มีการกำหนดระยะเวลาอายุความในเรื่องละเมิด โดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายมีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเอกสารในการนำเสนอคดีต่อศาล ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอในการพิสูจน์หลักฐานให้ความจริงปรากฏ ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่มีความสลับซับซ้อนยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐาน

นอกจากนี้ยังมุ่งศึกษาถึงการกำหนดอายุความละเมิดตามสภาพการกระทำที่มีความร้ายแรง ที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะข้อเท็จจริง ซึ่งจากการศึกษา ตามหลักกฎหมายในมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการกำหนดอายุความละเมิดไว้เพียงกรณีเดียว โดยมิได้มีการแยกให้เป็นไปตามสภาพการกระทำที่มีความร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในสหราชอาณาจักร ได้มีการกำหนดอายุความละเมิดไว้แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับการกระทำและความร้ายแรงแห่งคดี และนอกจากนี้ยังมุ่งศึกษาถึงการให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอายุความในการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีละเมิดโดยทั่วไป หรือกรณีละเมิดโดยหมิ่นประมาท ซึ่งจากการศึกษาในมาตรา 420 และมาตรา 423 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ เมื่อนำมาเทียบกับบทกฎหมายในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการกำหนดให้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอายุความในการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้

ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดอายุความมีความเป็นธรรม ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคดีที่มีความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ และคดีที่มีการกระทำต่อร่างกายให้ถึงแก่ความตายหรือคดีที่เกี่ยวกับความผิดทางเพศ และมีการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง นอกจากนี้ยังรวมถึงคดีที่ผู้กระทำผิดอยู่นอกประเทศไทยด้วย

Author Biography

ผศ.ดร.สุธี อยู่สถาพร, คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร., คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Asst. Prof. Dr., Pridi Banomyong Faculty of Law, Dhurakij Pundit University

References

ภาษาไทย

กำชัย จงจักรพันธ์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยระยะเวลาและอายุความ.

พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2563.

ไพจิตร ปุญญพันธุ์. คำสอนชั้นปริญญาโท : กฎหมายเปรียบเทียบไทยกับประมวลกฎหมายนานา

ประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2546.

มานิตย์ จุมปา. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์

แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561.

ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด การจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้.

พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2564.

สุมาลี วงษ์วิฑิต. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้.

พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2563.

หลีชุน. ฉบับแปลจีน-ไทย ประมวลกฎหมายแพ่งแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์

เดือนตุลา, 2565.

มนัญญา ธัชแก้วกรพินธุ์. “อายุความ: ศึกษากรณีความรับผิดทางละเมิด.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.

ภาษาต่างประเทศ

Droit.org. “Code civil.” From https://codes.droit.org/PDF/Code%20civil.pdf, 17 May 2022.

Erdem Büyüksagis. “The New Turkish Tort Law.” From https://www.researchgate.net/publication/256061196_The_New_Turkish_Tort_Law_Extracts_from_the_New_Turkish_Code_of_Obligations_Journal_of_European_Tort_Law_JETL_12012_pp_44-100, 18 May 2022.

Published by her majesty’s stationery office. “Limitation Act 1980.” From https://www.legislation.gov.uk/ukpga/1980/58/pdfs/ukpga_19800058_en.pdf, 10 May 2022.

เผยแพร่แล้ว

2023-05-24