มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา ศึกษากรณี ผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย

ผู้แต่ง

  • อรทัย สุวรรณะ -
  • จิรวุฒิ ลิปิพันธ์

คำสำคัญ:

ยาเสพติด, ผู้ค้ารายย่อย, การลงโทษ, มาตรการทางเลือก

บทคัดย่อ

                สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยยังคงรุนแรง อาจเนื่องจากการมีมาตรการทางอาญาที่เข้มงวดในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นโยบายการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดียาเสพติดกับผู้ค้ายาเสพติดที่ผ่านมามีแนวคิดในการจัดการกับผู้ค้ายาเสพติดโดยมุ่งเน้นการปราบปรามเป็นหลัก การใช้กฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดรุนแรง นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้แล้ว ยังสร้างปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การมีนักโทษในคดียาเสพติดจำนวนมาก จนส่งผลให้มีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

              จากการศึกษาพบว่าการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดที่เป็นปัญหา คือการไม่สามารถแยกผู้กระทำความผิดแต่ละกลุ่มออกจากกันได้ เช่น กลุ่มผู้เสพ กลุ่มผู้ค้ารายย่อย กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้เกิด การลงโทษผู้กระทำความผิดแบบเหมารวม เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างการกระทำความผิด แม้ว่าจะมีขนาดความร้ายแรงของการกระทำความผิดที่แตกต่างกันก็อาจถูกลงโทษในอัตราโทษที่สูง ทำให้ผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดที่มียาเสพติดจำนวนน้อย ต้องได้รับโทษที่รุนแรง โดยที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญากับผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยได้ เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายหรือค้ายาเสพติด เป็นความผิดที่กฎหมายได้กำหนดให้เป็นการกระทำความผิดอาญา และมีบทลงโทษที่รุนแรง กฎหมายจึงมุ่งเน้นการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดให้หมดสิ้นไป โดยการใช้โทษจำคุกเป็นเครื่องมือในการลงโทษทางอาญา ทำให้ไม่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อยได้ ดังนั้นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยซึ่งอาจเป็นเพียงผู้เสพยาเสพติดที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ค้ายาเสพติด เพื่อแลกกับยาเสพติดเพื่อใช้ในการเสพ หรือผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยที่จำเป็นต้องกระทำความผิดเพื่อการหารายได้ในการดำรงชีพต้องถูกลงโทษจำคุก เข้าสู่เรือนจำ ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ พฤติกรรมในการกระทำความผิด จนไม่อาจแก้ไขปรับปรุงตัวได้ และกระทำผิดซ้ำจนกลายเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้

         ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยไม่ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเน้นการลงโทษทางอาญาอันเนื่องจากปัญหาการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ทำให้ผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยเข้าสู่เรือนจำจนเป็นปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และพฤติกรรมในการกระทำความผิดจนไม่อาจแก้ไขปรับปรุงตัวได้ และเกิดการกระทำผิดซ้ำจนกลายเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่

          ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาปัญหาและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข โดยนำมาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญามาใช้กับผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย ซึ่งเป็นทางเลือกในการลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรง พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด เพื่อให้เกิดการลงโทษที่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าสู่เรือนจำ

คำสำคัญ: ยาเสพติด, ผู้ค้ารายย่อย, การลงโทษ, มาตรการทางเลือก

References

ภาษาไทย

กุณฑิกา ช่วยพนัง. “การใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุกระยะสั้น.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.

ชมพูนุท แก้วอนุรักษ์. “ความคิดเห็นของผู้ต้องขังยาเสพติดรายย่อยต่อการเข้าร่วมโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะ.”

สารนิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.

พรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว. “ปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมายของการใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษ และการกำหนดโทษ

กรณีศึกษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.” (รายงานการศึกษาส่วนบุคคลหลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม

ระดับสูง (บ.ย.ส.)” รุ่นที่ 12 วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม, 2552.

วัฒนา เกิดผล. แนวทางมาตรการการดำเนินการต่อข้อร้องของประชาชน 1386. กรุงเทพมหานคร: สำนักงาน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 6, ม.ป.ป.

ภาษาต่างประเทศ

Hammond. Claudia (18 June 2009). “Lisbon's light-touch drugs policy.” BBC News.

Retrieved 24 August 2009

Hughes. Caitlin. Stevens. Alex (December 2007), The Effects of Decriminalization of Drug Use In

Portugal (PDF), Briefing Paper 14, Oxford: Beckley Foundation, archived from the

original (PDF) on 26 April 2015

Portugal Decriminalized All Drugs Eleven Years Ago And The Results Are Staggering, Business

Insider (17 Jul 2012), Boaz, David (17 March 1988).

Tom Blickman & Martin Jelsma. “Drug Policy Reform in Practice: Experiences with Alternatives

in Europe and the US’ Transnational Institute, July 2009. And Illicit drug use in the

EU: legislative approaches, EMCDDA thematic papers, Lisbon 2005

United Nations Office on Drugs and Crime (2009). Confronting unintended d consequences:

Drug control and the criminal black market (PDF). World Drug Report (United Nations).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-06