กระบวนการดำรงอัตลักษณ์มุสลิมกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งกรณีศึกษา : ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ เพื่อทำความเข้าใจศักยภาพและความหมายของอัตลักษณ์มุสลิมสามประการ ตามที่ปรากฏใน อัล กุรอาน ซูรอฮ์ : อัลฮัจญ์ อายะฮ์ 41 อันได้แก่ การละหมาด การซะกาต และการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว ในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ และเพื่อศึกษากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ทั้งสามของชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ รวมทั้งผลของกระบวนการดังกล่าวในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ดำเนินการวิจัยโดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Approach) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพรูปแบบหนึ่ง มุ่งตีความพฤติกรรมของกลุ่มคนหรือระบบสังคม โดยใช้มโนทัศน์ทางวัฒนธรรมเป็นฐานคิด มีผู้ให้ข้อมูลคือผู้อาวุโสที่เคยเป็นแกนนำชุมชนมาก่อน 25 คน ผู้นำชุมชนปัจจุบัน จำนวน 6 คน สัปบุรุษมัสยิดบ้านเหนือที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว ทั้งชายและหญิง จำนวน 36 คน ทำการคัดเลือกโดยวิธีการแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลัก เสริมด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของชุมชน การสนทนากลุ่ม (focus group) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
ผลการวิจัยพบว่าการละหมาดมีศักยภาพสูงในการผลิตซ้ำจักรวาลทัศน์อิสลาม ขัดเกลาจิตใจและก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างยั่งยืนในชุมชน ที่ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือมีผู้ละหมาดร่วมกันในแต่ละครั้งจำนวนมาก จึงช่วยให้ชุมชนมีระบบสังคมของตัวเอง ขณะที่ซะกาตช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะทั้งการแสวงหากำไรและเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันขึ้น ทำให้ชุมชนมีหลักประกันทางสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส ส่วนการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่วก็ช่วยให้ชุมชนมีกฎกติกาที่ใช้บังคับกันเองได้ ทำให้เกิดความสงบและเป็นระเบียบมากขึ้น และกระบวนการที่ทำให้ชุมชนสามารถดำรงอัตลักษณ์ทั้งสามไว้ได้มี 3 ประการ ได้แก่ การจัดการความรู้ การสร้างวิถีชีวิต และการบริหารจัดการ
กระบวนการทั้งสามนี้ได้ส่งผลให้ชุมชนสามารถสร้างเงื่อนไข 5 ประการในการต่อสู้กับวาทกรรมกระแสหลักได้ คือ ระบบการผลิตซ้ำจักรวาลทัศน์อิสลาม พลวัตวัฒนธรรม ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ และความเป็นเอกภาพและบูรณาการของเงื่อนไขทั้ง 4 ข้างต้น
คำสำคัญ : กระบวนการดำรงอัตลักษณ์มุสลิม อัตลักษณ์มุสลิม การส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว ชุมชนเข้มแข็ง ฟิตรอฮ์