การอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศมาเลเซีย กรณีศึกษาประเพณีและวัฒนธรรมของคนสยามในเขตตูมปัต รัฐกลันตัน
Abstract
โครงการวิจัย การอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศมาเลเซีย กรณีศึกษาประเพณีและวัฒนธรรมของของคนสยามในเขตตูมปัต รัฐกลันตัน มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของคนสยามในรัฐกลันตัน และ 2) เพื่อศึกษานโยบายของรัฐกลันตันในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ สนทนากลุ่มและการสังเกต
ผลการวิจัยพบว่า คนสยามเป็นคนดั่งเดิมของพื้นที่นี้ นับถือศาสนาพุทธและใช้ชีวิตในวิถีเกษตรกรรม มีภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารภายในชุมชน ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ การฟ้อนรำ กลองยาว งานสงกรานต์ และงานลอยกระทง เป็นต้น ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่มีการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง
นโยบายรัฐกลันตันภายใต้การบริหารงานของพรรคอิสลามมาเลเซีย (PAS) ต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือ การให้อิสระในการปฏิบัติตามค่านิยมและความเชื่อตนเองโดยไม่อนุญาตให้เกิดการปะปนกันในกิจกรรมทางศาสนา และส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ การดำเนินการที่ผ่านมาของรัฐบาลสร้างความมั่นใจให้กับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ และทำให้เกิดการนำเสนอประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มสู่สาธารณะ กลวิธีสำคัญที่ใช้คือ การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยผู้บริหารระดับสูงของรัฐ การสนับสนุนงบประมาณ การเป็นสื่อกลางนำเสนอประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์สู่ภายในรัฐในโอกาสต่างๆ ผลที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำมาสู่การประยุกต์ใช้สำหรับการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
คำสำคัญ: คนสยาม, รัฐกลันตัน, ประเพณีและวัฒนธรรม