บทลงโทษการประหารชีวิต : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง กฎหมายอาญาอิสลามและกฎหมายอาญาไทย
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทลงโทษการประหารชีวิตในกฎหมายอาญาอิสลามและกฎหมายอาญาไทย รวมทั้งเปรียบเทียบข้อแตกต่างและข้อเหมือนของบทลงโทษการประหารชีวิตในกฎหมายทั้งสอง การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเอกสาร โดยวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเอกสารจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่ง คือ ศึกษาหลักกฎหมายอิสลามจากคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลหะดีษตลอดจนตำราที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษการประหารชีวิต และศึกษาหลักกฎหมายไทยจากประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนเอกสารตำราทางกฏหมายของไทยที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า บทลงโทษการประหารชีวิตในกฎหมายอาญาอิสลามและกฎหมายอาญาไทยยังคงบังคับใช้อยู่ เพียงแต่กฎหมายอาญาไทยได้เปลี่ยนวิธีการประหาร และจุดประสงค์หลักของการลงโทษประหารของทั้งสองก็เพื่อเป็นการขจัดผู้กระทำผิดออกจากสังคมอย่างถาวร ในส่วนของความผิดที่ต้องโทษประหารนั้นในกฎหมายอาญาอิสลามและกฎหมายอาญาไทยมีความแตกต่างกัน โดยความผิดที่ต้องโทษประหารในกฎหมายอาญาอิสลามมีทั้งหมด 5 ฐานคือ การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา การผิดประเวณีสำหรับผู้ที่ผ่านการสมรสแล้ว การปล้นทรัพย์ การพ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม และการเป็นกบฏต่อรัฐอิสลาม ส่วนในกฏหมายอาญาไทยนั้นความผิดที่ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียวคือ การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการฆ่าที่มีเหตุฉกรรจ์ สำหรับวิธีการประหารนั้นในกฎหมายอาญาอิสลามและกฎหมายอาญาไทยก็มีความแตกต่างกันโดยในกฏหมายอาญาอิสลามจะมีวิธีการประหารที่เป็นวิธีเฉพาะของความผิด เช่น ความผิดฐานผิดประเวณีสำหรับผู้ที่ผ่านการสมรสแล้ว และการปล้นทรัพย์ การประหารโดยวิธีทั่วไปในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา การเป็นกบฏต่อรัฐอิสลาม และการพ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมแต่ในกฏหมายอาญาไทยไม่มีความแตกต่างกันโดยจะใช้วิธีการที่เหมือนกันในการประหารชีวิตในทุกฐานความผิด
คำสำคัญ : บทลงโทษ การประหารชีวิต