ความผิดฐานลักทรัพย์และบทลงโทษ: ศึกษาเปรียบเทียบ ระหว่างกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทย

Authors

  • ฮัมการ์ มะวิง
  • มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผิดฐานลักทรัพย์และบทลงโทษในกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทย รวมทั้งเปรียบเทียบข้อแตกต่างและข้อเหมือนของความผิดและบทลงโทษระหว่างกฎหมายทั้งสอง การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเอกสาร โดยวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเอกสารจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่ง คือศึกษาหลักกฎหมายอิสลามจากคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลหะดีษ ตลอดจนตำราที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานลักทรัพย์และบทลงโทษ และศึกษาหลักกฎหมายไทยจากประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนเอกสารตำราทางกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์แล้วนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การลักทรัพย์ เป็นการกระทำที่กฎหมายอิสลามและกฎหมายไทยถือเป็นความผิดที่ผู้กระทำจะต้องรับโทษตามกฎหมายแต่องค์ประกอบของความผิดบางประการเหมือนกัน และบางประการแตกต่างกัน องค์ประกอบที่เหมือนกันคือ ผู้ลักทรัพย์ต้องมีสติปัญญาสมบูรณ์ ไม่เป็นผู้เยาว์ มีความสมัครใจหรือมีเจตนาในการกระทำผิด ทรัพย์สินที่ถูกลักต้องอยู่ในประเภทสังหาริมทรัพย์ อยู่ในความครอบครองของคนอื่น และมีการลักทรัพย์จริงด้วยวิธีลับ  ส่วนองค์ประกอบที่แตกต่างกันคือในกฎหมายอิสลามการลักทรัพย์ที่ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษนั้น ต้องมีการเรียกร้องจากผู้ครอบครองทรัพย์ ทรัพย์สินที่ถูกลักต้องเป็นทรัพย์สินที่มีค่าตามหลักการของกฎหมายอิสลาม ครบพิกัดและมีการเอาทรัพย์จากสถานที่เก็บรักษาทรัพย์  ส่วนในกฎหมายไทยรัฐมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องได้เองโดยผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนและไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่มีค่า แต่ได้กำหนดแค่เพียงว่าทรัพย์นั้นต้องมีราคาและถือเอาได้ ไม่จำเป็นต้องมีราคาที่แน่ชัดและไม่ได้กำหนดว่าต้องเอาจากสถานที่เก็บรักษาทรัพย์ ส่วนบทลงโทษของความผิดนั้นแตกต่างกันโดยกฎหมายอิสลามกำหนดบทลงโทษของการตัดมือในขณะที่กฎหมายไทยกำหนดบทลงโทษจำคุกและปรับ

Downloads