ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ กับ “ธรรมชาติ” ในอิสลาม

Authors

  • เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์

Abstract

บทความนี้มุ่งศึกษาปรัชญากฎหมายธรรมชาติโดยผ่านแนวความคิดเกี่ยวกับ “ธรรมชาติอันเที่ยงแท้” ในอิสลาม เพื่อสะท้อนถึงจุดเด่นและด้อยของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในอีกมิติหนึ่ง สำนักกฎหมายธรรมชาติมีทัศนคติต่อธรรมชาติอันเที่ยงแท้ของมนุษย์ในเชิงบวก ซึ่งคล้ายคลึงกับทัศนะของปวงปราชญ์มุสลิม เฉพาะอย่างยิ่งปวงปราชญ์กลุ่มมัวะตะซิละฮฺที่มีทัศนะว่าสติปัญญาของมนุษย์สามารถหยั่งรู้ถึงความถูก-ผิด ดี-ชั่ว สอดรับกับทัศนะของสำนักกฎหมายธรรมชาติที่เชื่อว่า “ธรรมชาติอันเที่ยงแท้” ในตัวมนุษย์เป็นขุมพลังที่จะนำไปสู่การค้นพบกฎหมายธรรมชาติ แต่ความเห็นนี้ขัดแย้งกับทัศนะของปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ที่อธิบายว่า “ธรรมชาติอันเที่ยงแท้” เป็นเพียงปัจจัยสำหรับการยอมรับบทบัญญัติอันเป็นธรรมชาติที่มาจากพระเจ้า คือ“อัลอิสลาม”เท่านั้น อัลอิสลามจึงสอดคล้องกับธรรมชาติอันเที่ยงแท้ของมนุษย์ และมีลักษณะพื้นฐานบางประการคล้ายคลึงกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติอย่างยิ่ง อาทิ ต้องเป็นนิรันดร เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกแห่งหนและทุกยุคสมัย ผูกพันมนุษย์ทุกคน และรัฏฐาธิปัตย์จะออกกฎหมายมาขัดแย้งมิได้ ราวกับว่าบทบัญญัติอิสลามเป็นเสมือนหนึ่งกฎหมายในอุดมคติหรือความใฝ่ฝันของสำนักกฎหมายธรรมชาติ และเป็นความใฝ่ฝันที่เป็นรูปธรรมในโลกแห่งความเป็นจริง

Downloads