ความต้องการการพัฒนาทักษะ 5 ด้านเกี่ยวกับสื่อการสอนของครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้
Abstract
บทความนี้เน้นการนำเสนอความคิดเห็นของครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับความต้องการในการพัฒนาทักษะด้านสื่อการสอน ตลอดจนศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาทักษะการใช้สื่อการสอนของครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยแบ่งความต้องการในการพัฒนาทักษะด้านสื่อการสอนเป็น 5 ด้าน คือ 1) ด้านการเลือกใช้สื่อการสอน 2) ด้านการผลิต จัดซื้อสื่อการสอน 3) ด้านการเตรียมการสำหรับการใช้สื่อการสอน 4) ด้านการใช้สื่อการสอน และ 5) ด้านการประเมินสื่อการสอน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการในการพัฒนาด้านสื่อการสอน ดังนี้ ด้านการผลิต จัดซื้อสื่อการสอน คิดเป็นร้อยละ 30.93 ด้านการใช้สื่อการสอน คิดเป็นร้อยละ 20.31 ด้านการเลือกใช้สื่อการสอน คิดเป็นร้อยละ 17.73 ด้านการเตรียมการสำหรับการใช้สื่อการสอน คิดเป็นร้อยละ 16.81 ด้านการประเมินสื่อการสอน คิดเป็นร้อยละ 14.22 โดยมีรูปแบบในการพัฒนา คือ การอบรม คิดเป็นร้อยละ 73.49 ชุดการเรียน คิดเป็นร้อยละ 11.65 การสัมมนา คิดเป็นร้อยละ 7.83 การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง คิดเป็นร้อยละ 7.03 และหน่วยงานที่ต้องการให้รับผิดชอบในการจัดการพัฒนาทักษะด้านสื่อการสอน คือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ คิดเป็นร้อยละ 31.87 โรงเรียนต้นสังกัด คิดเป็นร้อยละ 31.77 หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นร้อยละ 21.28 สถาบันอุดมศึกษา คิดเป็นร้อยละ14.66 และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 0.41
ผลจากการเปรียบเทียบความแตกต่างของความต้องการในการพัฒนาทักษะด้านสื่อการสอนโดยรวม พบว่า มีความแตกต่างกันสำหรับครูที่มีเพศ และมีขนาดของโรงเรียนต่างกัน
คำสำคัญ : สื่อการสอน, โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม, อิสลามศึกษา, การพัฒนาทักษะ