ผลการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคชิคุนกุนยาระดับปฐมภูมิ ของชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
Abstract
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคชิคุนกุนยาระดับปฐมภูมิของชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย จำนวน 40 คน (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล 4 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 14 คน และเครือข่ายประชาชน 20 คน) ได้ร่วมในกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผลการปฏิบัติ ระยะเวลาดำเนินการวิจัยตั้งแต่มิถุนายน 2553 ถึง เมษายน 2554 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บ รวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลชุมชน แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคชิคุนกุนยา แบบสัมภาษณ์ แบบสนทนากลุ่ม แบบสังเกต และแบบบันทึกการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการป้องกันโรคชิคุนกุนยาของผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย เครื่องมือทั้ง 6 ชุดได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติเชิงพรรณนา
ผลจากการวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคชิคุนกุนยา คือ 1) ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำแผนการดำเนินงานป้องกันโรคชิคุนกุนยา 2) มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยและประชาชนในชุมชน 3) มีการสะท้อนผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยหลังการดำเนินงานป้องกันโรคชิคุนกุนยา และ 4) มีการประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย ปัจจัยส่งเสริมการดำเนินงานประกอบด้วย ภาวะผู้นำ และสัมพันธภาพที่ดีต่อกันของผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย ส่วนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ได้แก่ ภาระงานประจำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และแหล่งข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคชิคุนกุนยาที่ไม่เพียงพอ
รูปแบบการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ได้จากการวิจัยนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานป้องกันโรคชิคุนกุนยา โดยการขยายขอบเขตของผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานไปสู่ชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีการป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ: โรคชิคุนกุนยา, การมีส่วนร่วม, การป้องกันโรคชิคุนกุนยาระดับปฐมภูมิ