การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในจังหวัดกระบี่
Abstract
งานวิจัยเชิงบรรยายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาระดับของการรับรู้ของประชาชนต่อการ มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับของการรับรู้ของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการประเมินตนเอง และโดยการประเมินบุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนในชุมชน จำนวน 91 ราย ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยใช้แบบสอบถามปลายปิด ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรง ตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นด้วยวิธีครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ในส่วนของการรับรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการประเมินตนเองเท่ากับ 0.96 และโดยการประเมินบุคลากร ผู้ให้บริการสุขภาพเท่ากับ 0.97 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบที (Paired–t-test) ผลการวิจัยพบว่าการรับรู้ของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในภาพรวมโดยการประเมินตนเอง อยู่ในระดับปานกลาง ( = 3.11, SD =0.67) และโดยการประเมินบุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน (= 3.29, SD = 0.69) เมื่อเปรียบเทียบระดับของการรับรู้ของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการประเมินตนเองและโดยการประเมินบุคคลอื่น ในภาพรวม พบว่าแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (t= 3.89)
ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ว่าประชาชนคาดหวังให้บุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนา การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ระหว่างประชาชน และบุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพ ให้สอดคล้องกับการคาดหวังของประชาชนต่อไป
คำสำคัญ: การรับรู้การมีส่วนร่วม, การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก, ชุมชน