ผลของการให้การปรึกษาแบบกลุ่มและกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรีที่มีต่อทักษะชีวิตกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช

Authors

  • จรรยา แผนสมบูรณ์
  • ดวงมณี จงรักษ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพของแผนการให้การปรึกษาแบบกลุ่มและ กลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี ต่อการพัฒนาทักษะชีวิตในเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนที่ศาลตัดสินคดีถึงที่สุดและอยู่ระหว่างการฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 60 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่ให้การปรึกษาแบบกลุ่มและกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี ซึ่งทั้งสองกลุ่มประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่างที่กระทำผิดแบบรุนแรงและไม่รุนแรงอย่างละเท่ากันจำนวนกลุ่มละ 30 คน เครื่องมือใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยแผนการให้การปรึกษาแบบกลุ่ม และแบบการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยแผนกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี ทั้งสองแผนมุ่งพัฒนาทักษะชีวิต 4 ด้าน ได้แก่ การเห็นคุณค่าในตนเอง การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การปฏิเสธและการต่อรอง และการจัดการกับอารมณ์ และ 2) แบบวัดทักษะชีวิตทั้ง 4 ด้าน สำหรับวิธีดําเนินการทดลองแบ่งเป็น 3 ระยะคือ  ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และระยะติดตามผลหลังจากการทดลองสิ้นสุดไปแล้ว 1 เดือน โดยกลุ่มตัวอย่างทำแบบวัดทักษะชีวิตในทุกระยะ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนาม (Two-Way ANOVA) ผลการวิจัยสรุปไดดังนี้

1. หลังการทดลองพบว่าคะแนนทักษะชีวิตกลุ่มการให้การปรึกษาแบบกลุ่มและกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรีสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 โดยที่พบความแตกต่างมากกว่าในกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี

2. หลังการทดลองพบว่าคะแนนในองค์ประกอบทุกด้าน ได้แก่การเห็นคุณค่าในตนเอง การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การปฏิเสธและการต่อรอง และการจัดการกับอารมณ์ กลุ่มการให้การปรึกษาแบบกลุ่มและกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 โดยที่พบความแตกต่างมากกว่าในกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรี

3. ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคะแนนทักษะชีวิตของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่มีพฤติกรรมการกระทำผิดแบบรุนแรงกับกลุ่มที่มีพฤติกรรมการกระทำผิดแบบไม่รุนแรง จากการทดสอบระหว่างก่อนและหลังการทดลองตลอดถึงระยะการติดตามผลภายหลังจากการทดลองไปแล้ว 1 เดือนในกลุ่มทั้งสอง

4. ช่วงติดตามผลภายหลังจากการให้การปรึกษาไปแล้ว 1 เดือนพบว่าคะแนนทักษะชีวิตกลุ่มการให้การปรึกษาแบบกลุ่มและกลุ่มผสมผสานกิจกรรมดนตรีสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 อย่างไรก็ตามหลังการทดลองไม่มีความแตกต่างระหว่างคะแนนทักษะชีวิตของทั้งสองกลุ่ม

คำสำคัญ: แผนการให้การปรึกษา, กิจกรรมดนตรี, เยาวชน, สถานพินิจ

Downloads

Additional Files

Published

2014-03-06