รูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชนในชุมชนเขตเมือง กรณีศึกษาเทศบาลนครยะลา

Authors

  • สุริยัน ยูโซ๊ะ
  • สุชาดา ฐิติระวีวงศ์
  • ศักรินทร์ ชนประชา

Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสร้างกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชนในชุมชนเขตเมือง  และ(2) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานตามกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชนในชุมชนเขตเมือง กรณีศึกษาเทศบาลนครยะลา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นเยาวชนในพื้นที่เทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอายุระหว่าง 15 – 20 ปี   จำนวน 40 คน วิธีการดำเนินวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ (1) การศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของเยาวชน (2) การเตรียมกลุ่มเยาวชน (3) การวางแผนและเตรียมจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต (4) การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชน  และ (5) การสรุปผล การประเมิน และติดตามผล   ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม  การสัมภาษณ์ แบบบันทึกส่วนบุคคล และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

(1) การสร้างกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชน โดยการมีส่วนร่วมของเยาวชน  กำหนดการสร้างทักษะชีวิต 4 ด้าน ได้แก่ Head ทักษะชีวิตด้านผู้นำ  Hand ทักษะชีวิตด้านความร่วมมือ Health ทักษะชีวิตด้านสุขภาพ Heart ทักษะชีวิตด้านจิตใจ  เริ่มต้นจากการสร้างกลุ่มเยาวชนธรรมดาทั่วไปให้เป็นผู้นำเยาวชน แล้วเชื่อมโยงสู่สังคม สามารถให้ความร่วมมือผู้อื่นในสังคมได้ รวมทั้งเยาวชนมีสุขภาพแข็งแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา โดยใช้รอยยิ้ม เป็นจุดเริ่มต้นของความสุข ผ่านการเข้าร่วมอย่างมีคุณค่าผ่านทางกิจกรรม ความเป็นผู้นำ สามารถให้ความร่วมมือในสังคม รวมทั้งมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย จิตใจ สังคมและปัญญา รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสาธารณะที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

(2) ผลการประเมินการดำเนินกิจกรรม พบว่า กิจกรรมทั้ง 4 โครงการ มีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่ใช้ในกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต การมีส่วนร่วมของเยาวชนทุกคน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ในการกิจกรรม เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต 4H สำหรับเยาวชน อยู่ในระดับมากที่สุด

ปัจจัยที่เอื้อต่อจัดกิจกรรม ได้แก่ การมีส่วนร่วมของทีมวิจัยและภาคี ความสามารถของวิทยากรและทีมวิจัย รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน  และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรมได้แก่ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาระหน้าที่ของเยาวชน ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม  กิจกรรมละลายพฤติกรรม และประเพณีที่แตกต่างกันของกลุ่มเยาวชน

 

คำสำคัญ: ทักษะชีวิต 4H, ผู้นำเยาวชน, กลุ่มเยาวชน “ดาวยิ้ม”, ทักษะชีวิต

Downloads

Additional Files

Published

2014-03-06