ผลของวิธีการอ่านซ้ำต่อทักษะการอ่านคล่องที่มีต่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
Abstract
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิภาพของการใช้เทคนิคการอ่านซ้ำในการพัฒนาทักษะการอ่านคล่องของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 2) ศึกษาทัศนคติของนักเรียนต่อวิธีการอ่านซ้ำต่อทักษะการอ่านคล่องที่มีต่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างของการศึกษาในครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 30 คน จากโรงเรียนบ้านตลิ่งสูง อำเภอสุไหงปาดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 การอ่านซ้ำเป็นวิธีการสอนเพื่อใช้ในการพัฒนาการอ่านแบบอัตโนมัติ วิธีการอ่านซ้ำมีประโยชน์ในการเพิ่มความคล่องในการอ่าน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลวิจัยในครั้งนี้ได้แก่ 1) บทอ่านเพื่อการอ่านซ้ำ 2) แบบทดสอบความเข้าใจ และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจ ขั้นตอนในการทดลองสามารถอธิบายได้ดังนี้ 1) นักเรียนอ่านบทอ่านเพื่อการอ่านซ้ำและทำข้อสอบความวัดความเข้าใจก่อนเรียน 2) นักเรียนอ่านบทอ่านเพื่อการอ่านซ้ำเรื่องเดิม 3 ครั้งโดยมีการจับเวลาทุกครั้งที่อ่าน 3) อัตราการอ่านถูกคำนวณในรูปแบบของจำนวนคำที่อ่านได้ต่อนาที และ 4) นักเรียนทำแบบทดสอบความเข้าใจหลังเรียนและตอบแบบสอบถาม ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดลอง ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปคำนวณหาค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t-test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลการทดลองก่อนและหลังการใช้วิธีการอ่านซ้ำ
ผลการวิจัยพบว่า 1) หลังจากการใช้วิธีการอ่านซ้ำต่อทักษะการอ่านคล่อง คะแนนเฉลี่ยทั้งหมดของอัตราการอ่านครั้งสุดท้ายมีคะแนนสูงกว่าคะแนนการอ่านในครั้งแรกด้วยคะแนนเฉลี่ย 79.86 ต่อ 62.38 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเกณฑ์การอ่านคล่องแล้วแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความคล่องในการอ่านอยู่ในระดับกลาง คะแนนเฉลี่ยของการสอบเพื่อความเข้าใจหลังเรียนมีค่าคะแนนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และ 2) นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้วิธีการอ่านซ้ำต่อการอ่านคล่องในระดับสูงโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.19 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าวิธีการอ่านซ้ำมีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการอ่านคล่องวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งควรนำมาใช้ในห้องเรียนภาษาอังกฤษจริง
คำสำคัญ: การอ่านซ้ำ, การอ่านคล่อง, อัตราการอ่าน, การอ่านเพื่อความเข้าใจ