การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
Abstract
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 3)เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างกลุ่มที่เรียนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กับกลุ่มที่เรียนด้วยวิธีการเรียนแบบปกติ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555โดยการสุ่มกลุ่ม และสุ่มแบ่งชั้น เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ 1) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องมาตราตัวสะกด 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องมาตราตัวสะกด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนหลายทางแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยพบว่า
1. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องมาตราตัวสะกด มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.86/91.77
2. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องมาตราตัวสะกด มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ0.78
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มที่เรียนด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สูงกว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนด้วยวิธีการเรียนแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องมาตราตัวสะกด อยู่ในระดับมากที่สุด
คำสำคัญ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย, มาตราตัวสะกด