สภาพการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารศูนย์การศึกษาอิสลาม ประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในจังหวัดสตูล
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานวิชาการของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในจังหวัดสตูล (2) เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารงานวิชาการของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)ในจังหวัดสตูล ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือผู้บริหารศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)ในจังหวัดสตูล ประชากรที่ใช้ในการตอบแบบสอบถาม จำนวน 101 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสัมภาษณ์ คือ นักวิชาการอิสลามในจังหวัดสตูล จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามมาตราส่วน 5 ระดับ แบบสัมภาษณ์ไม่มีโครงสร้าง ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพการดำเนินงานวิชาการของผู้บริหารศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)ในจังหวัดสตูลโดยภาพรวม อยู่ในระดับ ปานกลาง และ เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่าด้านหลักสูตร ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ด้านวัดผลประเมินผล ด้านสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและด้านห้องสมุดอยู่ในระดับ ปานกลาง 2. แนวทางการบริหารงานด้านหลักสูตร พบว่า ควรใช้หลักสูตรตาดีกาเพียงหลักสูตรเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพของจังหวัดสตูล จัดทำหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นระดับชั้นและวัยของผู้เรียน งานกระบวนการจัดการเรียนรู้ พบว่า จัดให้มีการเรียนรู้นอกสถานที่ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือบุคคลในชุมชนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยสอนตามโอกาสอันควร คณะกรรมการบริหารศูนย์หรือชุมชนผู้ปกครองจะต้องมีการประชุมร่วมกันเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ของศูนย์ด้วย งานวัดผลประเมินผล พบว่า ควรใช้เครื่องมือในการวัดผลที่หลากหลายอย่างครบถ้วน มีการวัดและประเมินผลตามหน่วยการเรียนรู้เป็นระยะอย่างต่อเนื่องการวัดและประเมินผลควรเน้นการปฏิบัติจริง ควรวัดให้สอดคล้องกับเนื้อหาหลักสูตร จุดประสงค์ และกิจกรรมการเรียนรู้ มีการรายงานผลต่อผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง งานสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พบว่า มีการจัดการอบรมการสร้างสื่อโดยผู้มีความรู้ในท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร ส่งเสริมให้ครูได้จัดทำสื่อที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดความคุ้มค่า งานห้องสมุดพบว่า ควรจัดให้มีห้องสมุดหรือมุมหนังสือเพื่อ ส่งเสริมให้นักเรียนผู้ปกครองและชุมชนให้เป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
คำสำคัญ: การบริหารงานวิชาการ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)