ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย

Authors

  • อับดุลฮาลิม ไซซิง
  • มุฮำหมัดซาีกี เจ๊ะหะ
  • ฆอซาลี เบ็ญหมัด
  • ดานียา เจ๊ะสนิ
  • อาหมัด อัลฟารีตีย์
  • รอซีดะห์ หะนะกาแม

Abstract

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบศาลชะรีอะฮฺในกฎหมายอิสลาม ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย  และรูปแบบของศาลชะรีอะฮฺที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการศึกษาเอกสารและวิจัยภาคสนาม การศึกษาเอกสารจะศึกษาข้อมูลจากอัลกุรอาน  ตำราอัลหะดีษ  และตำราที่เขียนโดยนักวิชาการตลอดจนงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวกับศาลชะรีอะฮฺในอิสลาม การวิจัยภาคสนามโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็น

ผลการศึกษาพบว่า ศาลชะรีอะฮฺ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมมุสลิมและต้องดำเนินการตามหลักศาสนบัญญัติของอิสลาม การจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนที่เป็นมุสลิมในการปฏิบัติตามหลักศาสนบัญญัติของตนตามรัฐธรรมนูญโดยจะทำให้การใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกสามารถบังคับใช้อย่างสมบูรณ์อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในสายตาของประชาชนที่เป็นมุสลิมและในประเทศมุสลิมทั่วโลก สำหรับอุปสรรคปัญหาในการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทยนั้นมีสาเหตุอยู่ 2 สาเหตุคือ ความไม่เข้าใจของรัฐ และการขาดเอกภาพของมุสลิมในการเรียกร้องให้มีศาลชะรีอะฮปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ได้ด้วยการสร้างความเข้าใจแก่รัฐและสังคมภายนอกด้วยวิธีการจัดสัมมนา การทำเอกสารเผยแพร่ หรืองานวิจัยเป็นต้น  และต้องสร้างเอกภาพระหว่างมุสลิม กระบวนการแรกในการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทยควรผลักดันให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านการรับรองจากสภาและควรมีการเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ในศาลชะรีอะฮฺโดยการผลิต สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม

รูปแบบของศาลชะรีอะฮฺที่เหมาะสมกับลักษณะประเทศไทยนั้นควรเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม มี 2 ชั้น ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ มีอำนาจพิพากษาคดีของมุสลิมรวมถึงคดีความที่มุสลิมกับผู้ที่มิใช่มุสลิมโดยพิจารณาที่มูลเหตุแห่งคดีว่ามาจากใครเป็นหลัก ในด้านพื้นที่นั้นควรขยายทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีมุสลิมจำนวนมาก อาจยึดหลักตามคณะกรรมกอิสลามประจำจังหวัดในด้านอรรถคดีควรเพิ่มเติมจากคดีอื่นๆที่นอกเหนือจากคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ส่วนรูปแบบในการพิจารณาคดีนั้นไม่จำกัดว่าแบบไต่สวนหรือแบบกล่าวหา

คำสำคัญ: ศาลชะรีอะฮฺ ความเป็นไปได้ รูปแบบ

Downloads

Published

2012-12-23