การควบคุมแนวคิดทางศาสนาที่บิดเบือนในรัฐกลันตัน: กรณีศึกษาการควบคุมดูแลกลุ่มแนวคิดอัลนักชาบันดีย์
Abstract
บทคัดย่อ
โครงการวิจัย การควบคุมแนวคิดทางศาสนาที่บิดเบือนในรัฐกลันตัน: กรณีศึกษาการควบคุมดูแลกลุ่มแนวคิดอัลนักชาบันดีย์ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษานโยบายและแนวทางการควบคุมดูแลแนวคิดต่างๆของรัฐบาลรัฐ กลันตัน 2) เพื่อศึกษาบทบาทรัฐบาลรัฐกลันตันในการควบคุมดูแลแนวคิดอัลนักชาบันดีย์ 3) เพื่อศึกษาแนวคิดอัลนักชาบันดีย์และสิทธิในการเผยแผ่แนวคิดและความเชื่อ 4) เพื่อศึกษามุมมองของอัลนักชาบันดีย์ต่อบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลรัฐกลันตันในการดูแลแนวคิดต่างๆผลการวิจัยพบว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมดูแลแนวคิดต่างๆ โดยมุ่งเปลี่ยนรัฐกลันตันให้เป็นรัฐอิสลาม (Islamic State) ด้วยการสร้างความถูกต้องในเรื่องอากีดะห์ (หลักการศรัทธาหรือความเชื่อ) ฟิกเราะห์ (ความคิด) และอัคลาก (จริยธรรม) ในการควบคุมแนวคิดต่างๆนั้นเป็นภาระหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอิสสลามแห่งรัฐกลันตัน และทางสำนักงานฯได้มอบหมายให้กรมกิจการศาสนาอิสลามเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งการควบคุมแนวคิดบิดเบือนนั้นมีขั้นตอนในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่มีอยู่ในสำนักงานฯ สำหรับแนวคิดอัลนักชาบันดีย์แล้วถือเป็นกลุ่มแนวคิดที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมประเทศมาเลเซีย ถูกเผยแพร่ในรัฐกลันตันไม่น้อยกว่า 40 ปี หรือเกือบ 100 ปี เป็นกลุ่มแนวคิดที่มีความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาที่แตกต่างกับหลายๆกลุ่มแนวคิดอื่น ปัจจุบันรัฐบาลรัฐกลันตันยังไม่มีการพิจรนาและวินิจฉัยความบิดเบือนของแนวคิดนี้ เพราะหลักฐานที่มียังไม่เพียงพอที่จะเอาผิดและดำเนินคดีกับกลุ่มแนวคิดนี้ได้ แต่มีการติดตามและตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มแนวคิดนี้ เป็นเหตุให้มุมมองแนวคิดนี้ต่อการควบคุมดูแลของรัฐบาลแตกต่างกันไป ผลการวิจัยนี้สามารถนำเป็นแนวทางในการควบคุมดูแลกลุ่มต่างๆที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการวางนโยบายและแนวทางการควบคุมที่ชัดเจนและเป็นธรรมมากที่สุด
คำสำคัญ: การควบคุมดูแล, แนวคิดบิดเบือน, แนวคิดอัลนักชาบันดีย์, รัฐกลันตัน, พรรคพาส, ตอรีเกาะฮฺ, ซูฟีย์