บริการส่งต่อผู้ป่วยของหน่วยบริการปฐมภูมิบนเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่

Authors

  • ทิพวรรณ หนูทอง
  • เพชรน้อย สิงห์ช่าชัย
  • สาวิตรี ลิ้มชัยอรุณเรือง

Abstract

บทคัดย่อ

วิจัยเชิงคุณภาพนี้ วัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายการส่งต่อผู้ป่วย ขั้นตอน ปัญหา แนวทางแก้ปัญหาของผู้ใช้และผู้ให้บริการ ทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผู้ให้ข้อมูล 12 คน เก็บข้อมูล กรกฎาคม 2552 –มีนาคม 2553  โดยการสัมภาษณ์ ตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ผู้ใช้บริการให้ความหมายการส่งต่อผู้ป่วย คือ การไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ ด้วยการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ ตรวจร่างกาย รับยาและส่งต่อไปที่อื่น ผู้ให้บริการให้ความหมาย คือ ให้ผู้มีความสามารถมากกว่าดูแลตามระบบส่งต่อ เพื่อรักษาอาการรุนแรง อาการที่ไม่ดีขึ้น อาการที่เกินขีดความสามารถ โดยหมอที่ชำนาญหรือมีเครื่องมือพร้อม ขั้นตอนของผู้ใช้บริการ คือ รับรู้และเข้าใจอาการเจ็บป่วย ดูแลสุขภาพตนเอง เลือกแหล่งรักษาและตัดสินใจ ขั้นตอนของผู้ให้บริการ คือ การประเมิน วินิจฉัย รักษาพยาบาลเบื้องต้น ตัดสินใจส่งต่อ ประสานงาน เตรียมเอกสารและนำส่งผู้ป่วย และเยี่ยมบ้าน ปัญหาของผู้ใช้บริการ คือ การเดินทางออกจากเกาะ ความต้องการรักษาพยาบาล ปัญหาของผู้ให้บริการ คือ การเคลื่อนย้ายและขนส่งผู้ป่วย  ขาดเครื่องมือ บุคลากรไม่พอ โดยแนวทางที่ผู้ใช้บริการเสนอ คือ จัดหาพาหนะนำส่งผู้ป่วยตลอดเวลา มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการรักษาเพิ่มขึ้น แนวทางที่ผู้ให้บริการเสนอ คือ จัดหาหน่วยงานที่สนับสนุนเครื่องมือ มีเรือนำส่งผู้ป่วย พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ สนับสนุนความรู้แก่ประชาชนเรื่องสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ สนับสนุนเครื่องมือ  อบรมเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่พยาบาล และการแพทย์ทางไกล.

 

คำสำคัญ: บริการส่งต่อผู้ป่วย, หน่วยบริการปฐมภูมิบนเกาะ

 

 

Downloads