คุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของกอฎียฺในกฎหมายอิสลาม

Authors

  • อับดุลฮาลิม ไซซิง
  • มุฮำหมัดซาีกี เจ๊ะหะ
  • ฆอซาลี เบ็ญหมัด
  • ดานียา เจ๊ะสนิ
  • อาหมัด อัลฟารีตีย์
  • รอซีดะห์ หะนะกาแม

Abstract

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของกอฎียฺในกฎหมายอิสลาม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณสมบัติของกอฎีย์ในกฎหมายอิสลาม 2) ศึกษาอำนาจหน้าที่ของกอฏียฺในกฎหมายอิสลาม การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการศึกษาข้อมูลจากอัลกุรอาน หนังสืออัลหะดีษ และหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการตลอดจนงานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับศาลชะรีอะฮฺในอิสลาม

ผลการศึกษาพบว่าคุณสมบัติของกอฎียฺในอิสลามนั้นต้องเป็นมุสลิม บรรลุศาสนภาวะ มีภาวะทางจิตที่ปกติ  เป็นอิสรชน เพศชาย เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เป็นมุจญฺตะฮิด มีประสาทสัมผัสที่สมบูรณ์หากผู้ที่ดำรงตำแหน่งกอฎียฺขาดซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวก็จะทำให้การแต่งตั้งและคำตัดสินของเขาไม่เป็นผลแต่อย่างใดดังนี้เป็นคุณสมบัติที่กำหนดโดยนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ แต่ก็มีนักกฎหมายอิสลามบางส่วนที่เห็นว่าคุณสมบัติบางประการนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย เช่น เพศชาย เป็นมุจญฺตะฮิด และความเป็นมุสลิมดังนั้นจึงเห็นได้ว่ามีประเทศมุสลิมบางประเทศที่แต่งตั้งผู้พิพากษาที่เป็นหญิง ชาวต่างศาสนิก และมิได้ระบุความสามารถของผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาถึงขั้นมุจญฺตะฮิด

อำนาจหน้าที่ของกอฎียฺแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคืออำนาจโดยตรง และอำนาจที่ได้รับมอบหมาย อำนาจโดยตรง คือ การพิจารณาพิพากษาและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คืนสิทธิอันชอบธรรมให้กับเจ้าของสิทธิและดำเนินการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ส่วนอำนาจที่ได้รับมอบหมายนั้นอาจมีความแตกต่างกันตามยุคสมัยซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปกครองถึงความเหมาะสมของผู้ที่ดำรงตำแหน่งกอฎียฺอำนาจดังกล่าวคือ อำนาจปกครองผู้ซึ่งไร้ความสามารถ  ดูแลทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ ดำเนินการให้พินัยกรรมเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้ทำพินัยกรรมได้มอบหมายไว้ จัดการสมรสให้แก่หญิงที่ไม่มีผู้ปกครอง สอดส่องดูแล ควบคุมสิ่งที่อยู่ภายใต้การปกครอง ตรวจสอบพยานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดี และให้ความเสมอภาคในการชี้ขาดตัดสินคดีระหว่างผู้ที่มีอำนาจกับผู้ที่อ่อนแอ

 

คำสำคัญ: คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ กอฎียฺ กฎหมายอิสลาม


Downloads