การสร้างสันติวัฒนธรรมภายใต้หลักยุติธรรมชุมชนระหว่างประชาชนกับตำรวจ: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล และตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล

Authors

  • นิยม กาเซ็.
  • บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ
  • ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษารูปแบบลักษณะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับกิจการตำรวจ 2. เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างสันติวัฒนธรรมของชุมชนภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชนในกิจการตำรวจ 3. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของแนวทางการสร้างสันติวัฒนธรรมภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชนในกิจการตำรวจระหว่างชุมชนในตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล และตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล ขอบเขตของการศึกษา คือ (1) บทบาทของข้าราชการตำรวจและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งในกิจการของตำรวจ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชน  ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ด้านการจราจร ด้านการดูแลสาธารณสมบัติ และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น (2) การนำหลักการยุติธรรมชุมชนมาใช้ในการจัดการความขัดแย้งและปัญหาข้อพิพาทในกิจการตำรวจและสร้างสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในชุมชน และ (3) เปรียบเทียบความเหมือนหรือแตกต่างระหว่างแนวทางการสร้างสันติวัฒนธรรมโดยนำเอาหลักการยุติธรรมชุมชนมาใช้ในกิจการตำรวจของตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล และตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล

            การคัดเลือกพื้นที่ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาพื้นที่จากความแตกต่างแบบสุดขั้ว กล่าวคือ พื้นที่ที่มีความแตกต่างในทุกระดับในด้านที่นำมาเลือกทำการวิจัย โดยเลือกศึกษาพื้นที่ 2 แห่ง คือ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล และตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล และได้ทำการศึกษาจากเอกสารราชการที่ยังบังคับใช้ได้ระหว่างการศึกษาและกรณีศึกษาทางคดีอาญาตามสถิติคดีอาญาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2554 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยดำเนินการวิจัยโดยใช้ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ผู้วิจัยเลือกศึกษากลุ่มตัวอย่างจากประชากรจากทั้งสองตำบลที่เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ และหน่วยงานยุติธรรม ให้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการตำรวจ   วิธีวิจัยที่ใช้ คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดย 1. ศึกษาเอกสาร  2.สังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) 3. สัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal Interview) 3. สัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Indepth Interview) 4. สนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) และนำข้อมูลมาสังเคราะห์ทั้ง แบบ Descriptive และแบบ Explanatory ผลการศึกษาพบว่า 1.ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกิจการตำรวจทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและชุมชนได้ใช้ทักษะความรู้ความสามารถในการจัดการต่อความขัดแย้งโดยนำเอาหลักการยุติธรรมมาใช้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ 2.การสร้างสันติวัฒนธรรมเกิดขึ้นจริงได้ในกิจการตำรวจโดยผ่านทางกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและกระบวนการยุติธรรมทางเลือกภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชน ซึ่งมีแผนงาน นโยบาย คำสั่ง ยุทธศาสตร์ หรือตัวบทกฎหมายต่าง ๆ รองรับบทบาทหน้าที่ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและชุมชน 3.เจ้าหน้าที่ตำรวจและชุมชนเองไม่ได้ทราบความหมายของการสร้างสันติวัฒนธรรมหรือเข้าใจหลักการยุติธรรมชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ทั้งนี้การสร้างสันติวัฒนธรรมภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชนในกิจการตำรวจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 4.ระหว่างตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล และตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล ไม่มีความแตกต่างกันในแนวทางการสร้างสันติวัฒนธรรมภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชนในกิจการตำรวจ แต่แตกต่างกันในวิธีการปฏิบัติของแต่ละชุมชนซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นและขึ้นอยู่กับทักษะการจัดการความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน 

 

คำสำคัญ: การสร้างสันติวัฒนธรรม, ยุติธรรมชุมชน, กิจการตำรวจ

Downloads

Additional Files

Published

2016-02-04