การนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (I-NET) ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดสํานักงานการศึกษา เอกชนจังหวัดนราธิวาส
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความสําเร็จของการนำผลการทดสอบ I-NET ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน และเพื่อศึกษาการนำผลการทดสอบ I-NET ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน กลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 160 คน คือ ผู้บริหาร จำนวน 6 คน ครู จำนวน 94 คน และนักเรียน จำนวน 60 คน ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดสํานักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาสโดยการวิจัยแบบผสม (Mixed Method Research) ใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเป็นเครื่องมือการเก็บข้อมูล ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและความสําเร็จของการนำผลการทดสอบ I-NET ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน พบว่า สภาพปัจจุบันและความสำเร็จของโรงเรียนในการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (I-NET) ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ (1) ด้านคุณภาพการบริหารจัดการ ซึ่งทางโรงเรียนมีสภาพดำเนินการที่มีความสำเร็จอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ การจัดทำแผนยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านอิสลามศึกษา (2) ด้านคุณภาพครูผู้สอน มีสถาพการดำเนินการที่มีความสำเร็จในระดับมาก ได้แก่ ครูนำผลการประเมินทางด้านอิสลามศึกษาไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ (3) ด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งมีสภาพการดำเนินการที่มีความสำเร็จอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านอิสลามศึกษาสูงขึ้นต่อเนื่อง (4) และด้านสื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีสภาพการดำเนินการที่มีความสำเร็จในระดับมาก ได้แก่ สื่อการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาทุกกลุ่มสาระเพียงพอเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ จำนวนผู้เรียน ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงและทั่วถึง
อย่างไรก็ตามสภาพปัจจุบันและความสำเร็จของโรงเรียนในภาพรวม พบว่า โรงเรียนมีการดำเนินการที่มีความสําเร็จอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านคุณภาพการบริหารจัดการมีสภาพความสําเร็จอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านสื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพมีสภาพความสําเร็จอยู่ในระดับปานกลาง
สำหรับการศึกษาการนำผลการทดสอบ I-NET ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ด้านการบริหารจัดการให้มีแนวนโยบายการพัฒนาคุณภาพด้านอิสลามศึกษาของต้นสังกัดสู่โรงเรียนที่ชัดเจน ด้านครูผู้สอน มีการพัฒนาในด้านการใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาอย่างมีเอกภาพ เสริมประสบการณ์การการวัดผลประเมินผลที่สอดคล้องกับแนวทางการทดสอบของ สทศ. ด้านคุณภาพผู้เรียน ให้นำผลการทดสอบ I-NET ไปใช้สำหรับการเลื่อนชั้นและจบหลักสูตรอิสลามศึกษา และด้านสื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการใช้และพัฒนาสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อนําผลการทดสอบ I-NET ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระบบ
คำสำคัญ : การนำผลสอบ I-NET, การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม