การพัฒนาเลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์ เรื่องรูปเรขาคณิตที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาเลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อศึกษาผลการประเมินความคิดสร้างสรรค์ทางด้านคณิตศาสตร์ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของนักเรียนที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์หลังการใช้เลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนบึงเขาย้อน(คงพันธุ์อุปถัมภ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 30 คนโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย (Simple random sampling)ด้วยวิธีการใช้ตารางเลขสุ่ม (Random number table) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์ เรื่องรูปเรขาคณิต แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบบประเมินความคิดสร้างสรรค์ทางด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียน แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีของกลุ่มตัวอย่างไม่อิสระ (t-test for dependent sample)
ผลการวิจัยพบว่า เลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์ มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์โดยเฉลี่ยเท่ากับ80.04/80.83 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 10.40และมีค่า S.D.เท่ากับ 1.61 ค่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 16.16 มีค่า S.D.เท่ากับ1.12 มีค่าt-test ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 17.60 ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ผลการประเมินความคิดสร้างสรรค์ทางด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.15 อยู่ในระดับมาก และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์หลังการใช้เลิร์นนิงอ็อบเจ็กต์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.04 อยู่ในระดับดี
คำสำคัญ: เลิร์นนิ่งอ็อบเจ็กต์เรื่องรูปเรขาคณิต