เจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลาที่มีต่อวิชาพลศึกษา

Authors

  • วุฒิพงษ์ บุญสนอง
  • น้อม สังข์ทอง
  • สุนทรา กล้านรงค์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อเปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อวิชาพลศึกษา ตามตัวแปรเพศ แผนการเรียน และขนาดโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดสงขลา ประจำปีการศึกษา 2554 จำนวน 36 โรงเรียน  มีจำนวนนักเรียน 5,530 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ของลิเคิร์ท (Likret) 5 ระดับ ที่ถามเจตคติของนักเรียน และการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนเจตคติของนักเรียน โดยการทดสอบที (t-test) และการทดสอบเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว หากพบว่ามีความแตกต่างอย่างจากการวิเคราะห์ความแปรปรวน จะทำการทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยใช้วิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe)             ผลการวิจัยพบว่า

1. เจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อวิชาพลศึกษา มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกข้อ  โดยการเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก  ดังนี้  การเรียนวิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40 รองลงมา คือ  การเรียนวิชาพลศึกษาแล้วทำให้ผู้เรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 และการเรียนพลศึกษาทำให้มีสมรรถภาพทางกายดีขึ้น มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.30 ตามลำดับ  และโดยรวมเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา  ที่มีต่อวิชาพลศึกษาอยู่ในระดับมากเช่นกันซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.13  

2. ผลการเปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อวิชาพลศึกษาไม่แตกต่างกัน

3. ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา ที่มีต่อวิชาพลศึกษา ที่เลือกเรียนในแผนการเรียนสายวิทยาศาสตร์ สายศิลปศาสตร์ และสายภาษา มีเจตคติต่อวิชาพลศึกษา ไม่แตกต่างกัน

4.  ผลการเปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา  ที่มีต่อวิชาพลศึกษา ที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีเจตคติต่อวิชาพลศึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

5. ผลการเปรียบเทียบเจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสงขลา ที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่  ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เป็นรายคู่ พบว่า นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่กับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดกลาง  นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่กับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก  มีเจตคติต่อวิชาพลศึกษาแตกต่างกัน  และนักเรียนที่เรียน ในโรงเรียนขนาดกลางกับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก มีเจตคติต่อวิชาพลศึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

คำสำคัญ: เจตคติ, วิชาพลศึกษา

Downloads

Additional Files

Published

2016-02-04