สภาพและแนวทางแก้ไขปัญหาการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
Keywords:
ปัญหา, แนวทางแก้ไข, อ่านสะกดคำ, เขียนสะกดคำAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการอ่านสะกดคำและเขียนสะคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธี ได้แก่ การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและการใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1.สภาพปัญหาเรื่องการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร มีดังนี้ 1) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ไม่ได้สอนในวิชาภาษาไทยแต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นในโรงเรียน 2) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ไม่ได้จบเอกภาษาไทย จึงไม่รู้หลักในการสอนวิชาภาษาไทย 3) นักเรียนที่โรงเรียนรับเข้ามามีหลากหลายปัญหา ได้แก่ เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว มีสภาวะเรียนรู้ช้า เป็นเด็กพิเศษทั้งที่มีใบรับรองแพทย์และไม่มี 4) เวลาที่ครูจะได้ใช้ในการซ่อมเสริมเด็กที่อ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำไม่ได้นั้นมีจำกัด เพราะมีภาระงานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานมากมาย 5) ขาดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำในโรงเรียนเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ บุคลากรและเวลา รวมถึงความตระหนักในปัญหาที่เป็นอยู่ 2.แนวทางในการแก้ไขปัญหาการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร มีดังนี้ 1) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ควรเป็นครูที่จบเอกภาษาไทยซึ่งรู้หลักในการสอนวิชาภาษาไทยโดยเฉพาะเรื่องการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำ 2) การสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ วันละ 5-10 นาที และควรทำต่อเนื่อง 3) ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยควรได้รับการอบรมเรื่องเทคนิคการสอนและการสร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำอย่างต่อเนื่อง 4) ผู้เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูท่านอื่น ผู้ปกครอง ชุมชนควรร่วมมือกันในการส่งเสริมความสามารถในการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของเด็กจนกว่าจะสามารถอ่านออกและเขียนได้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น 5) ฝ่ายบริหารควรมีนโยบายในการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของครูลงแต่เพิ่มประสิทธิภาพเชิงวิชาการด้วยการให้ครูได้มีเวลาในการพัฒนาและแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ 6) ควรมีการส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อการสอนและนวัตกรรมที่ช่วยให้นักเรียนสามารถอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำได้ในรูปแบบที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานและเพลิดเพลินแต่ได้รับความรู้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการเรียน 7) วิธีการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำที่ได้ผลมากที่สุดคือการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ