การพัฒนาแบบวัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
Keywords:
แบบวัด, การรู้ทางการเมืองAbstract
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการพัฒนาแบบวัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย มี วัตถุประสงค์ในการวิจัยดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแบบวัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 2) เพื่อวิเคราะห์คุณภาพแบบวัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 3) เพื่อเปรียบเทียบการรู้ ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัยรัฐ กับ นักเรียนโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย จำนวน 797 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบวัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เป็นแบบวัดหลายตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติเชิงบรรยาย การวิเคราะห์ค่าความเที่ยงแบบความสอดคล้องภายใน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ตัวประกอบเชิงยืนยัน
ผลการวิจัยพบว่า (1) องค์ประกอบและตัวชี้วัดการรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาตอนปลาย มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ทางการเมือง ทักษะทางการเมือง และเจตคติทางการเมือง มี 15 ตัวชี้วัด แบบวัดเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก โดยแต่ละองค์ประกอบมีข้อคำถามองค์ประกอบละ 10 ข้อ รวมทั้งหมดจำนวน 30 ข้อ (2) แบบวัดมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.82 (3) ผลจากการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนการรู้ทางการเมือง พบว่า นักเรียนของโรงเรียนสาธิตฯ มีค่าเฉลี่ยคะแนนการรู้ทางการเมืองสูงกว่ากลุ่มนักเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดล พบว่าโมเดลสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่า Chi-square = 108.24, df =83, p = .53, GFI = 0.98, AGFI = 0.96 RMR = 0.03, และ RMSEA = 0.02