ความต้องการจำเป็นในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับอาชีพช่างยนต์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ: กรณีศึกษาสถาบันการอาชีวศึกษารัฐบาล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Keywords:
ความต้องการจำเป็น, การพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, ภาษาอังกฤษสำหรับช่างยนต์Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการจำเป็นในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับอาชีพช่างยนต์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่งตัวอย่างในการวิจัยประกอบด้วยนักเรียนช่างยนต์ จำนวน 120 คน ช่างยนต์ จำนวน 10 คน และครู จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามความต้องการจำเป็นในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับอาชีพช่างยนต์ ซึ่งประกอบด้วยข้อคำถามที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ความต้องการจำเป็นตามองค์ประกอบการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ส่วนที่ 2 ความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับอาชีพช่างยนต์
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้ ส่วนที่ 1 นักเรียนช่างยนต์ ช่างยนต์ และครู มีความต้องการจำเป็นตามองค์ประกอบการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมากที่สุด คือ มิติการใช้ภาษาตามหน้าที่และสถานการณ์การใช้ภาษา พบว่า มีความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษในการพูดทักทาย การกล่าวลา และการกล่าวขอโทษ การสอบถามข้อมูลและให้ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ อันดับที่สอง คือการพูดสาธิตวิธีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ และอันดับที่สาม คือการพูดบรรยายในเรื่องต่าง ๆ การพูดอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน การพูดอธิบายระบบการทำงานและส่วนประกอบต่าง ๆ ของยานยนต์ และการพูดเพื่อสอบถามความคิดเห็นหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ องค์ประกอบที่มีความต้องการจำเป็นในลำดับรองลงมา คือ มิติทางภาษาและไวยากรณ์ พบว่า มีความต้องการจำเป็นด้านการพูดออกเสียงให้ชัดเจนและถูกต้อง การใช้คำศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง และการพูดได้ถูกต้องตามหลักโครงสร้างประโยค องค์ประกอบที่เป็นความต้องการจำเป็นในลำดับที่สาม คือ มิติทางกลวิธีภาษา พบว่า มีความต้องการจำเป็นด้านการใช้วิธีการสื่อสารโดยการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้เข้าใจตรงกันในสิ่งที่ต้องการสื่อสารกับคู่สนทนามากที่สุด และองค์ประกอบที่เป็นความต้องการจำเป็นในลำดับสุดท้าย คือ มิติทางวัฒนธรรมภาษา พบว่า มีความต้องการจำเป็นด้าน การใช้ภาษาได้ถูกต้องตามวัฒนธรรมมากที่สุด ส่วนที่ 2 นักเรียนช่างยนต์ ช่างยนต์ และครู มีความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับอาชีพช่างยนต์ ดังนี้ ในด้านสื่อประกอบการเรียนการสอนควรนำสื่อที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ สื่อวีดีทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อมัลติมีเดีย สื่อที่เป็นของจริง และหนังสือเรียน และในด้านวิธีการจัดการเรียนการสอนควรมีวิธีการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้มีการลงมือปฏิบัติ ได้แก่ การฝึกพูดในสถานการณ์จริง การแสดงบทบาทสมมติ และการบรรยาย