ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร
Keywords:
การนิเทศการสอน, โรงเรียนร่วม, ครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ประชากร คือ ครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 202 คน จาก 37 โรงเรียน วิเคราะห์ ข้อมูลโดยใช้ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS
ผลการวิจัยพบว่า ครูผู้สอนมีความต้องการการนิเทศการสอนอยู่ในระดับมากทุกด้าน ตามลำดับดังนี้ ด้านการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) (µ=4.05) ด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ (µ=4.03) ด้านเทคนิคการสอนและสื่อการสอน (=4.03) และ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียน
( =3.94)
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอน พบว่า 1) ปัจจัยด้านอายุ ช่วงอายุ 21 – 30 ปี ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ช่วงอายุ 31 – 40 ปี ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียน มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และช่วงอายุ 51 – 60 ปี ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนด้านเทคนิคการสอนและสื่อการสอน มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ปัจจัยด้านวุฒิการศึกษา พบว่า วุฒิการศึกษาปริญญาตรีส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนทุกด้าน โดยส่งผลมากที่สุด คือ ด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) ปัจจัยด้านระดับชั้นที่สอน พบว่า ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนทุกด้าน โดยส่งผลมากที่สุด คือ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4) ปัจจัยด้านภาระงาน พบว่า ภาระงานที่รับผิดชอบมากกว่า 1 ภาระงาน และ 5) ปัจจัยด้านประสบการณ์การสอน พบว่า การที่ไม่เคยมีประสบการณ์การสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ และ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียน มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6) ปัจจัยด้านการได้รับการนิเทศ พบว่า การไม่เคยได้รับการนิเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการสอน ส่งผลต่อความต้องการการนิเทศการสอนด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05