ประเภทของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารศึกษิตาลัย
         บทความวิชาการ ได้แก่ งานเขียนทางวิชาการในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่มีการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ข้อยุติ ข้อเสนอแนะและประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบ โดยผู้เขียนค้นคว้าจากเอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น แล้ววิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล
        บทความวิจัย (Research article) ได้แก่ บทความที่นำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าใหม่ ๆ ทั้งในด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ เป็นการนำเสนอปัญหาที่ผู้เขียนได้ศึกษาหรือประเด็นที่ต้องการคำตอบมีการกำหนดกรอบแนวคิด การเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งสรุปปัญหาอย่างชัดเจน อันเป็นการสร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่าทางวิชาการ ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใด ๆ มาก่อน

วารสารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 3,500 บาท (สามพันห้าร้อยบาทถ้วน) ต่อ 1 บทความ ผู้เขียนจะต้องลงทะเบียนพร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมในระบบ วารสารจะนำค่าธรรมเนียมนี้มาปฏิบัติงานภายในและจะคืนให้ในกรณีบรรณาธิการปฏิเสธการตีพิมพ์เท่านั้น หากส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความแล้ว วารสารจะไม่คืนค่าธรรมเนียม

การส่งบทความเข้าระบบ Thaijo เพื่อได้รับการตีพิมพ์

          การส่งในระบบ (Online Submission) สามารถส่งเข้าระบบออนไลน์ได้เว็บไซต์ ของวารสารศึกษิตาลัย ได้ที่  https://so01.tci-thaijo.org/index.php/SJ/index เมื่อส่งเข้าระบบสำเร็จให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมทาง Email : [email protected]

เข้าสู่ระบบ หรือ สมัครสมาชิก

การจัดเตรียมบทความ
วารสารศึกษิตาลัย ได้กำหนดการเตรียมต้นฉบับไว้ ดังนี้ (คลิ๊กเพื่อดูตัวอย่าง)
1)  ต้นฉบับบทความต้องมีความยาว 12 – 14 หน้ากระดาษ A4 (รวมเอกสารอ้างอิง) พิมพ์บนกระดาษหน้าเดียว ใช้ตัวอักษรแบบ TH SarabunPSK ตั้งค่าหน้ากระดาษขอบบน 3 ซม. ขอบล่าง 1.5 ซม. ขอบซ้าย 2.5 ซม. ขอบขวา 1.5 ซม. กำหนดระยะห่างระหว่างบรรทัดเท่ากับ 1 การนำเสนอรูปภาพและตาราง ต้องนำเสนอรูปภาพและตารางที่มีความคมชัด พร้อมระบุหมายเลขกำกับรูปภาพไว้ด้านล่าง พิมพ์เป็นตัวหนา เช่น ตาราง 1 หรือ Table 1 และ รูป 1 หรือ Figure 1 รูปภาพที่นำเสนอต้องมีรายละเอียดของข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปอ่านที่เนื้อความอีก ระบุลำดับของรูปภาพทุกรูปให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่อยู่ในต้นฉบับ โดยคำอธิบายต้องกระชับและสอดคล้องกับรูปภาพที่นำเสนอ
         2)  ชื่อเรื่องต้องมีภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พิมพ์ไว้หน้าแรกตรงกลาง
         3)  ชื่อผู้เขียน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมระบุสังกัดหรือหน่วยงาน และ E-mail พิมพ์ด้วยตัวอักษรปกติอยู่ใต้ชื่อเรื่อง โดยเยื้องมาทางด้านขวา
         4)  มีบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไม่เกิน 300 คำต่อบทคัดย่อ
         5)  กำหนดคำสำคัญ (Keywords) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
         6)  การเรียงหัวข้อ หัวข้อใหญ่สุด ให้พิมพ์ชิดขอบด้านซ้าย หัวข้อย่อยเว้นห่างจาก หัวข้อใหญ่ 3-5 ตัวอักษร พิมพ์ตัวที่ 6 และหัวข้อย่อยขนาดเดียวกัน ต้องพิมพ์ให้ตรงกัน เมื่อขึ้นหัวข้อใหญ่ ควรเว้นระยะพิมพ์ เพิ่มอีก 0.5 ช่วงบรรทัด
         7)  การใช้ตัวเลขคำย่อ และวงเล็บ ควรใช้ตัวเลขอารบิกทั้งหมด ใช้คำย่อที่เป็นสากลเท่านั้น (ระบุคำเต็มไว้ในครั้งแรก) การวงเล็บภาษาอังกฤษ ควรใช้ดังนี้ (Student centred learning)
         8) ส่งบทความต้นฉบับที่ E-mail : [email protected]
         บทความวิจัย ให้เรียงลำดับสาระ ดังนี้
           1)  บทคัดย่อ (Abstract) เสนอวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีการวิจัยและผลการวิจัยโดยสรุปมีความกะทัดรัด และสั้น
           2)  บทนำ (Introduction) ระบุความสำคัญของปัญหาการวิจัยกรอบแนวคิดและระบุวัตถุประสงค์การวิจัย
           3)  วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology) ระบุแบบแผนการวิจัยการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างและการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
           4)  ผลการวิจัย (Results) เสนอผลที่พบตามวัตถุประสงค์การวิจัยตามลำดับอย่างชัดเจน
           5)  สรุป (Conclusion) ระบุข้อสรุปที่สำคัญและข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้และประเด็นสำหรับการวิจัยต่อไป
           6)  ข้อเสนอแนะ (Suggestion) หมายถึง ประเด็นที่ผู้วิจัย เสนอแนะขึ้นมาจากผลการวิจัยหรือข้อค้นพบจากการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้ข้อมูล คำแนะนำแนวทาง หรือวิธีการใด ๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำ ข้อเสนอแนะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนา การปรับปรุง การ เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือการบริหารจัดการ เป็นต้น
           7)  เอกสารอ้างอิง (References) ต้องเป็นรายการที่มีการอ้างอิงไว้ในเนื้อเรื่องเท่านั้น ใช้การอ้างอิงแบบ APA
           บทความวิชาการ ให้เรียงลำดับสาระ ดังนี้
           1)  บทคัดย่อ (Abstract)
           2)  บทนำ (Introduction)
           3)  เนื้อเรื่อง (Content) แสดงสาระสำคัญที่ต้องการนำเสนอตามสำดับ
           4)  สรุป (Conclusion)
           5)  เอกสารอ้างอิง (Reference) การอ้างอิงในเนื้อเรื่องใช้ระบบ APA

ระบบการอ้างอิงและเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ (คลิ๊กเพื่อดูตัวอย่าง)
         เอกสารที่นำมาอ้างอิงควรได้มาจากแหล่งที่มีการตีพิมพ์ชัดเจน อาจเป็นวารสาร หนังสือหรือข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงทั้งหมดก่อนส่งต้นฉบับ ผู้เขียนบทความควรตรวจสอบถึงความถูกต้องของการอ้างอิงเอกสารเพื่อป้องกันความล่าช้าในการตีพิมพ์บทความ เนื่องจากบทความที่มีการอ้างอิงไม่ถูกต้อง จะไม่ได้รับการส่งต่อเพื่อพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จนกว่าการอ้างอิงเอกสารจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง
       การอ้างอิงในเนื้อหาบทความ
       รูปแบบการอ้างอิงในเนื้อเรื่องและท้ายเล่ม ใช้วิธีการอ้างอิงระบบนาม – ปี ตามรูปแบบของ American Psychological Association (APA) ให้ใช้ระบบตัวอักษรโดยใช้วงเล็บ เปิด-ปิด แล้วระบุชื่อ-นามสกุลของผู้เขียน และปีที่พิมพ์ กำกับท้ายเนื้อความที่ได้อ้างอิง โดยการกรอกข้อมูลอ้างอิงในฟังก์ชั่นการอ้างอิง ของโปรแกรม Microsoft Word 2010 เป็นต้นไป เอกสารอ้างอิงที่ใช้อ้างอิงในบทความ จะต้องปรากฏในเอกสารอ้างอิงท้ายบทความทุกรายการ โดยรูปแบบของเอกสารอ้างอิง มีดังนี้
         อ้างอิงจากเอกสารภาษาไทย
         1)  พระไตรปิฎกและอรรถกถาให้อ้างชื่อคัมภีร์/เล่มที่/ข้อที่/เลขหน้า มาด้วย ตัวอย่าง เช่น “ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการ ฉะนี้” (สํ.นิ. 16/35/75) เป็นต้น   
         2)  ผู้แต่งหนึ่งราย ให้อ้างชื่อผู้แต่งแล้วตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และตามด้วยปีที่พิมพ์ เช่น (สมภาร พรมทา, 2555)
        3)  ผู้แต่งสองราย ให้อ้างชื่อของผู้แต่งทั้งสองรายโดยใช้คำว่า “และ” ในการเชื่อมผู้เขียนทั้งสอง แล้วตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และปีที่พิมพ์ เช่น (พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, 2550)
        4)  ถ้ามีผู้แต่งมากกว่า 2 รายให้อ้างชื่อของผู้แต่งรายแรกแล้วเพิ่มคำว่า “และคณะ” แล้วตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และตามด้วยปีที่พิมพ์ เช่น (พระมหาสุทิตย์ อาภากโรและคณะ, 2558)
        5)  กรณีที่เนื้อความเป็นเรื่องเดียวกัน หรือผลการวิจัยเหมือนกัน แต่มีผู้อ้างอิงหลายคน ให้ใช้รายการอ้างอิงที่ใกล้เคียงปีปัจจุบันมากที่สุด
         อ้างอิงจากเอกสารภาษาอังกฤษ
         1)  ถ้ามีผู้แต่งหนึ่งรายให้อ้างนามสกุลของผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และปีที่พิมพ์ เช่น (Keown, 2010)
         2)  ถ้ามีผู้แต่งสองรายให้อ้างนามสกุลของผู้แต่งทั้งสองราย โดยใช้เครื่องหมายแอนด์ (&) คั่นกลางระหว่างนามสกุลของผู้แต่งทั้งสอง แล้วตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และปีที่พิมพ์ เช่น (Hersey & Blanchard, 2010)
         3)  ถ้ามีผู้แต่งมากกว่า 2 รายให้อ้างนามสกุลของผู้แต่งรายแรกตามด้วย et al. ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และปีที่พิมพ์ (Kaiser et al., 2010)